น้ำหอมพ่นพิษ! อินเดียสั่งห้ามนักบิน-ลูกเรือฉีดก่อนเหินฟ้า

ต่างประเทศ
2 ต.ค. 66
18:30
876
Logo Thai PBS
น้ำหอมพ่นพิษ! อินเดียสั่งห้ามนักบิน-ลูกเรือฉีดก่อนเหินฟ้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักบิน-ลูกเรืออินเดีย กำลังเจอปัญหาใหญ่ เมื่อกรมการบินพลเรือนของอินเดียกำลังจะออกกฎห้ามไม่ให้พวกเขาใช้น้ำหอมขณะปฏิบัติงาน เหตุมาจากป้องกันความผิดพลาดหากถูกสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ หากพบว่าพนักงานดื่มแอลกอฮอล์ก่อนทำการบิน

วันนี้ (2 ก.ย.2566) สำนักข่าว CNN รายงานว่า กรมการบินพลเรือน (DGCA) ของอินเดีย ออกกฎไม่ให้นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ใช้น้ำหอมในขณะการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากป้องกันความผิดพลาดในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เมื่อถูกสุ่มตรวจจากทางสนามบิน 

นอกจากน้ำหอมแล้ว ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอีกด้วย เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก แต่นักบินหรือลูกเรือคนใดที่มีประวัติการใช้ยา หรือเข้ารับการรักษาต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย โดยอินเดียจะประกาศใช้กฎนี้วันที่ 5 ต.ค.ที่จะถึงนี้ 

รู้จัก Bottle to Throttle

ความปลอดภัยในการบินคือสิ่งสำคัญที่ทุกคนปรารถนา ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ กฎเหล็กอย่างหนึ่งของผู้ให้บริการบนเครื่องบิน ทั้งนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือ สจ๊วต-แอร์โฮสเตส คือ "ห้ามดื่มแอลกอฮอล์" ก่อนทำการบิน

ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ของไทย ระบุว่า นักบินต้องปฏิบัติตามวินัย
ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในระยะเวลา 8 ชั่วโมงก่อนทำการบิน

เช่นเดียวกับข้อบังคับขององค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA ออกกฎ "Bottle To Throttle" หรือ "จากขวดถึงคันเร่ง" ระบุว่า

กฎการบินข้อสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ผู้ทำการบินบริโภคแอลกอฮอล์ก่อนทำการบิน 8 ชั่วโมง
และปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดต้องไม่เกิน 0.04 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
หรือ 40 Mg/ 100 Ml. 
Throttle หรือ คันเร่งเครื่องบิน

Throttle หรือ คันเร่งเครื่องบิน

Throttle หรือ คันเร่งเครื่องบิน

ในสหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสายการบินพาณิชย์ในปี 2562 เมื่อ United Airlines เพิ่มระยะเวลาจาก 8 เป็น 12 ชั่วโมง บังคับไม่ให้นักบินของสายการบินบริโภคแอลกอฮอล์ก่อนทำการบิน หลังจากที่นักบินของสายการบิน 2 คนถูกจับกุมในสกอตแลนด์ ก่อนบินกลับนิวเจอร์ซี สหรัฐฯ ในวันที่ 3 ส.ค.2562 และถูกตั้งข้อหาทำการบินขณะมึนเมา ส่วน Alaska Airlines เปลี่ยนเป็น 10 ชั่วโมงก่อนทำการบิน 

ในปี 2561 นักบินของ Delta ก็ถูกปฏิเสธการทำการบิน เมื่อเจ้าหน้าที่สนามบินตรวจพบว่าขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกระเป๋า และสังเกตพฤติกรรมที่เชื่อว่า เขาอาจตกอยู่ใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ 

ในปีเดียวกัน นักบินจาก Japan Airlines ถูกลงโทษจำคุก 10 เดือนหลังจากตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจมีมากเกินปริมาณที่กำหนดถึง 9 เท่า  

ไม่ใช่เพียงแค่นักบินเท่านั้นที่ถูกบังคับห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ก่อนบิน เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนหนึ่งของสายการบิน United Express ถูกจับกุมหลังจากลงจอดในรัฐอินเดียนา เนื่องจากผู้โดยสารกล่าวว่าเธอพูดไม่ชัดระหว่างการสาธิตความปลอดภัยก่อนการบิน จากนั้นก็เห็นว่าเธอหลับบน Jump seat (ที่นั่งประจำของแอร์โฮสเตส) 

8 ชั่วโมง นับที่แก้วแรก หรือ แก้วสุดท้าย ?

ข้อปฏิบัติห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ 8 ชั่วโมงก่อนทำการบิน อาจเป็นเพียงแค่เสือกระดาษ ที่เหมือนจะมีอำนาจแต่ไม่มีใครกลัว เมื่อมีคำถามตามมาว่า 

8 ชั่วโมง เริ่มนับที่ (แก้ว) ไหน ?

สำนักงานกฎหมาย Barnett ของสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.02 – 0.039 ผลก็คือนักบินก็ยังถูกปฏิเสธการปฏิบัติหน้าที่อยู่ดี 

เจ้าหน้าที่ FAA กล่าวว่า แม้ว่าร่างกายจะขับแอลกอฮอล์ในเลือดจนหมดแล้ว แต่ก็ยังอาจพบอาการเมาค้าง ค้างอยู่หลายชั่วโมงก็ได้ และ กาแฟดำ การอาบน้ำเย็น หรือ การสูดดมออกซิเจน 100% ก็ไม่สามารถขจัดแอลกอฮอล์ในร่างกายได้เร็วขึ้นด้วย 

นักบิน-ลูกเรือในประเทศไทย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอลืก่อนทำการบิน 8 ชั่วโมง

นักบิน-ลูกเรือในประเทศไทย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอลืก่อนทำการบิน 8 ชั่วโมง

นักบิน-ลูกเรือในประเทศไทย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอลืก่อนทำการบิน 8 ชั่วโมง

อัตราการกำจัดแอลกอฮอล์ของมนุษย์นั้น จริงๆ แล้วเท่ากันทุกคน คือ 0.015 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์/ชั่วโมง หรือเท่ากับเหล้า 1 แก้ว (เหล้ากลั่น 1 ช็อต, ไวน์ 5 ออนซ์, เบียร์ 12 ออนซ์) แต่มันจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตาม เพศ สุขภาพร่างกาย และการใช้ยา หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ความคอแข็ง" ของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน 

เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้เข้าใจง่าย

ใน 1 ชั่วโมง ร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ออกไปได้ 0.015 % 
ใน 8 ชั่วโมง ร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ออกไปได้ 0.120 %  
ถ้าเบียร์ 1 แก้ว มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40 mg. หรือเทียบเป็น 0.04 %
เมื่อดื่มเบียร์ครบ 3 แก้ว ก็จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ 0.120 %

DUI foundation องค์กรต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานพาหนะ สนับสนุนสายการบินในสหรัฐฯ เปลี่ยนข้อบังคับในองค์กรตนเอง ให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องบิน แทน 8 ชั่วโมง โดยอ้างเรื่องของน้ำหนักตัวของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ทำให้อัตราการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายไม่เท่ากัน

ผลกระทบ-อิทธิพลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์เป็นสิ่งต้องห้ามต่อร่างกายและสมอง สำหรับนักบินส่วนใหญ่ (และต่อทุกคนเช่นกัน) การบริโภคแอลกอฮอล์จะทำให้การตอบสนองช้าลง และทำให้การตัดสินใจ ความจำ ทักษะการเคลื่อนไหว และการใช้เหตุผล ลดลง

นักบินที่อยู่ในสภาวะมึนเมา ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ลูกเรือ ผู้โดยสาร เครื่องบินลำอื่น ที่สัญจรในช่องทางบิน และทุกคนที่อยู่ภาคพื้นดินด้วย

อ่านข่าวอื่น : 

จ้าง "สุทธิพร" มือปราบช้างป่าเขาใหญ่ทำงานที่รักต่ออีก 1 ปี

เคาะ "ก้าวไกล" ได้กมธ.สภาฯ 10 คณะ เพิ่มให้ รทสช.เป็น 3 คณะ

สพฉ.ชี้แจงจ่อยุบสายด่วน 1669 ใช้เบอร์ 191 แทน

ที่มา : Barnett Law office, CNN, Cbsnews, FAA, ICAO, DUI foundation 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง