ใครเจ้าของสลากฯ ? 2 ทนายดังชี้ชัด ปมซื้อสลากถูก 30 ล้านแต่ไม่ได้เงิน"

อาชญากรรม
3 ต.ค. 66
11:56
5,934
Logo Thai PBS
ใครเจ้าของสลากฯ ? 2 ทนายดังชี้ชัด ปมซื้อสลากถูก 30 ล้านแต่ไม่ได้เงิน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทนายเปิดกฎหมายอธิบายปมซื้อสลากจากเพจ ถูกสลาก 30 ล้านแต่ไม่ได้เงิน ด้านเพจยืนยันติดต่อผู้ซื้อไม่ได้ - ขายสลากให้ผู้อื่นไปแล้ว

วันนี้ (3 ก.ย.2566) กรณี นายสมเกียรติ อายุ 60 ปี และ น.ส.นารีรัตน์ อายุ 37 ปี คู่สามีภรรยา ชาว ต.หนองกระทุ่ม อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี สั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากเพจดังเพจหนึ่งแบบเก็บเงินปลายทาง ปรากฏว่า ถูกรางวัลที่ 1 คือเลข 727202 จำนวน 5 ใบ ซึ่งมีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท แต่กลับเกิดปัญหาหลังทางร้านไม่ส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวมาให้ อ้างติดต่อผู้ซื้อไม่ได้

ต่อมาทั้งคู่ได้ไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ประเด็นนี้เกิดข้อถกเถียงกันในโลกโซเซียลมีเดียว่า สรุปแล้วใคร คือ ผู้ถือสิทธิ์ตัวจริง เรื่องนี้ได้มีนักกฎหมายออกมาให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยเฉพาะชื่อดังอย่าง ทนายเกิดผล แก้วเกิด ที่ได้เข้ามารับทำคดีให้กับสามีภรรยา คู่นี้

ยกกฎหมายอธิบาย ปมถูกสลาก 30 ล้านไม่ได้เงิน เล็งขออายัด 4 ต.ค.นี้

เรื่องนี้ ทนายเกิดผล อธิบายว่า นายสมเกียรติ ซื้อหวยจำนวน 5 ใบ ทางช่องแชต ผู้ขาย ตกลงขายให้ในราคา 720 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การซื้อขาย ทรัพย์สินทั่วไป ที่ไม่ต้องจดทะเบียน

เมื่อมีการเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน การซื้อขายย่อมเป็นผลสำเร็จกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใน (ลอตเตอรี่ ที่พิพาท) ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทันทีแม้ไม่ได้มีการชำระเงินเนื่องจากการชำระเงินเป็นเงื่อนไขการชำระหนี้เท่านั้นเอง

มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน โดยคดีนี้นายสมเกียรติขอให้ตนเองเป็นทนายความให้ และนัดหมายกันจะไปขออายัดที่ทำการสลากกินแบ่งรัฐบาลในวันที่ 4 ต.ค.นี้ 

นอกจากนี้ ทนายเกิดผล ยังระบุอีกว่า ในการซื้อขาย เมื่อ "คำเสนอ" และ "คำสนอง" ถูกต้องตรงกัน สัญญาย่อมสมบูรณ์กรรมสิทธิ์ ย่อมเป็นของ "ผู้ซื้อ" ทันที เมื่อ "กรรมสิทธิ์" หรือ "ลอตเตอรี่" เป็นของผู้ซื้อโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ขายที่ครอบครองไว้ ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลให้กับผู้ซื้อ

การที่ผู้ขายครอบครองลอตเตอรี่ไว้แล้วเบียดบังเอาไปเป็นของตนเอง หรือบุคคลอื่น โดยทุจริตย่อมมีความผิด "ฐานยักยอกทรัพย์" มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คดีนี้ ถ้าไม่สามารถเจรจากันได้มาตรการต่อไป คือ ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ให้ถึงที่สุด

ขณะที่ ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต ที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว มีการระบุตัวเลขชัดเจน ถือว่ากรรมสิทธิ์ลอตเตอรีอยู่ที่ผู้ซื้อทันที แม้ยังไม่จ่ายเงิน หากผู้ซื้อไม่ได้ลอตเตอรี่ แนะผู้ซื้อแจ้งความดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ได้ 

เพจขายสลากแจง ลูกค้าไม่ได้โอนเงิน - ขายคนอื่นแล้ว 

ด้านเพจผู้จำหน่ายสลากดังกล่าวชี้แจงว่า ในวันที่ 23 ก.ย.66 ลูกค้าได้มีการสั่งซื้อเลข 727202 ชุด 5 ใบ และใช้บริการเก็บเงินปลายทางจริง "โดยไม่ได้มีการโอนเงินใด ๆ ทั้งสิ้น" ลูกค้าได้แจ้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์มา ทางร้านจึงถ่ายรูปสลากยืนยัน และโทรหาลูกค้าทันที 2 สาย เพราะเป็นการซื้อขายครั้งแรก เพื่อยืนยันการซื้อ-ขาย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้สอบถามลูกค้าว่า "เบอร์ที่ให้มาติดต่อได้ไหมครับ" แต่ไม่มีการตอบกลับอีกในวันนั้น

หลังจากนั้นวันที่ 25 ก.ย. ลูกค้าส่งกดไลค์ส่งมาแต่ทางร้านไม่ได้ตอบลูกค้า เพราะการกดไลค์อาจจะเผลอไปโดน ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะติดต่อสอบถาม และทางร้านต้องดูแลลูกค้าที่ให้ความสนใจมากกว่า และในวันที่ 1 ต.ค. หลังประกาศผลสลากแล้ว เวลา 18.42 น. ลูกค้าทักมาถามว่าได้ส่งลอตเตอรี 

ทั้งนี้ บริการเก็บเงินปลายทางในครั้งแรก ทางร้านต้องโทรติดต่อหาลูกค้าเพื่อยืนยันว่า ลูกค้ามีตัวตนอยู่จริงทางร้านถึงจะจัดส่งให้เพราะของที่ส่งไปมีวันหมดอายุและจะสำเร็จเมื่อลูกค้าชำระเงินเสร็จแล้วเท่านั้น ต้องขอโทษที่ทางร้านไม่ได้ยกเลิกการขาย และสลากรางวัลที่1 ถูกจำหน่ายไปแล้วทางร้านไม่ได้เก็บไว้ลุ้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง