ล้อมรั้ว "ปืน" มัจจุราช ความรุนแรง

อาชญากรรม
5 ต.ค. 66
17:47
844
Logo Thai PBS
ล้อมรั้ว "ปืน" มัจจุราช ความรุนแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

และแล้ว ปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง ก็เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์เด็กชายวัย 14 ปีก่อเหตุยิงที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับหน่วยที่เกี่ยวข้องระดมกวาดล้างความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน อาวุธสงคราม และเครื่องกระสุนอย่างจริงจัง และให้รายงานผลการปฏิบัติทุกๆ 15 วัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกใบอนุญาตอาวุธปืน และถือครองอาวุธปืน ที่ผ่านมาทำได้ง่าย โดยเฉพาะปืนแบลงค์กัน (Blank Guns) หรือ แบลงค์ฟายริ่งกัน (Blank Firing Guns) พบสถิตินำเข้ามาในประเทศกว่า10,000 กระบอก

ตลาดออนไลน์ช่องทางค้าอาวุธปืน

แม้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ระบุว่า จะเสนอให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแก้กฎหมายเพื่อสกัดนำเข้า Blank Gun ให้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อขายกันได้ โดยให้ตีว่าเป็นอาวุธจริง เพื่อป้องกันการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ไม่ให้สิ่งของเหล่านี้หลุดมาในตลาด

แต่ข้อเท็จจริง คือ หากเปิดเวปไซต์หรือเพจการซื้อ-ขายปืนพบว่า นอกจากปืน Blank Gun หรือปืน BB Gun แล้ว ยังมีการขายปืนประเภทอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ปืนลูกซอง ปืนสไนเปอร์ และสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ใช้บริการขนส่งเอกชน ทำการจัดส่งได้ภายในวันเดียว

สำหรับผู้ที่จะซื้อปืน Blank Gun และปืน BB Gun ว่า มีการระบุในเงื่อนไขว่า ผู้ซื้อจะต้องมีอายุครบ 21 ปี เนื่องจากแบลงค์กัน ไม่ใช่อาวุธปืน จึงไม่ต้องขออนุญาต แต่เมื่อมีการซื้อขายจะจะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนกับร้านค้า หรือผู้จำหน่าย เพื่อทำบันทึกข้อมูลว่าใครเป็นผู้ครอบครอง

โดยทั่วไปการใช้งานปืน Blank Gun ทำได้หลากหลาย แต่มักจะถูกนำมาใช้ในงานละคร และใช้ในการแสดงภาพยนตร์ การปล่อยตัวนักกีฬา ฝึกซ้อมก่อนการมีปืนจริง และลดอัตราการครอบ ครองอาวุธปืนจริง โดยไม่จำเป็น

แม้ Blank Gun จะเป็นปืนเลียนแบบ หรือปืนจำลอง แต่รูปแบบและหลักการทำงานเสมือนปืนจริง คือ ไม่สามารถขับลูกกระสุนหรือเม็ดกระสุนใดๆ ออกมาจากลำกล้อง โดยขบวนการออกแบบและผลิตปืนดังกล่าว จะป้องกันปืนไม่ให้ใช้กระสุนจริงได้ และมีระบบป้องการการดัดแปลง

แต่จากโศกนาฏกรรมเด็กชาย 14 ก่อเหตุยิงพารากอน กลับพบว่า มีการสั่งซื้อปืนแบลงค์กันที่ถูกดัดแปลงเพื่อสามารถนำมาใช้ได้กับกระสุนจริง กลายเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตผู้คนหลายชีวิต และขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลจับกุม 3 ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการขยายปืนดังกล่าว ได้ที่ จ.ยะลา ได้แล้วก็ตาม

ไทยติดทุกโผใช้ปืนก่อเหตุรุนแรง

หากย้อนเหตุกราดยิงในสถานการณ์ต่างกรรม ต่างวาระ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรก แต่เกิดขึ้นตั้งปี 2563-2566 หากนับรวมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา พบมี 8 ครั้ง และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์ World Population Review เผยผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่าไทย ติดอันดับที่ 15 มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 แสนคน

ขณะที่ข้อมูลจากกองสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า มีการใช้อาวุธปืนก่อเหตุในประเทศ ปี 2019 จำนวน 31,419 ครั้ง ใช้ปืนสั้นมีทะเบียน 64,410 ครั้ง ไม่มีทะเบียน 24,348 ครั้ง และเป็นปืนยาว 661 ครั้ง

จากการรวบรวมสถิติการครอบครองอาวุธปืนในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเว็บไซต์ Gun policy.org ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนปืนที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งถือครองโดยพลเรือน สิ้นสุดปี 2021อยู่ที่ 7,223,455 กระบอก

ไทยมีอัตราการเป็นเจ้าของปืนและการฆาตกรรมด้วยปืนสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน และเป็นแหล่งสำคัญการค้า-ขายอาวุธปืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งดออกใบอนุญาต "ล้อมคอก" ใช้ปืน

ด้วยเหตุดังกล่าว อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงออกมาตรการคุมเข้มอาวุธปืน โดยสาระสำคัญ คือ งดการออกใบอนุญาต นำเข้า การค้า และงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

มาตรการระยะสั้น ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก

ส่วนผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่

และกรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กันและบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด และการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบทั่วประเทศ

ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาต เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด

สำหรับสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ต้องตรวจสอบ และปฏิบัติตามระเบียบและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ให้ ตร.และกระทรวงดิจิทัลฯปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน และขอให้แจ้งกระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน

ส่วนมาตรการระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 คือ

1.ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ

2.กำหนดความหมาย บทนิยาม ของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปีนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย

3.กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน

4.ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย

5.ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วจะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5/10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์

อนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ และจะเร่งสั่งการให้กรมการปกครองรีบออกหนังสือเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

มท.1 งัดยาแรง 8 ข้อคุมปืน "งดออกใบอนุญาต" ทุกประเภท

ตร.ชุดระงับเหตุเปิดใจนาทีเผชิญหน้า-เจรจาเด็กยิงในพารากอน

เหตุยิงกลาง "พารากอน" สะท้อนปราบอาวุธ “เหลว” ท่องเที่ยวกระเจิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง