"เศรษฐา" ลาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” หลายคนเตือนซ้ำรอย “จำนำข้าว”

การเมือง
20 ต.ค. 66
14:22
220
Logo Thai PBS
"เศรษฐา" ลาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” หลายคนเตือนซ้ำรอย “จำนำข้าว”
แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงท่าทีเดินหน้าต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายอย่างที่คาดไว้ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง และมีประเด็นข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดหลายข้อ รวมถึงในเรื่องของกฎหมาย ที่กำลังกลายเป็นด่านสำคัญที่รัฐบาลผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ต้องเผชิญ

เพราะความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วย ได้ขยายวงอย่างต่อเนื่อง และพุ่งเป้าไปที่เรื่องทางกฎหมายเป็นหลัก หลังจากก่อนหน้านี้ การรวมตัวของนักเศรษฐศาสตร์ 99 คน ที่นำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านด้วยข้อมูลทางวิชาการและด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง นอกจากคำพูดว่า พร้อมจะรับฟังทุกความเห็น

ช่องทางด้านกฎหมายจึงกลายเป็นเป้าหมายแทน นับตั้งแต่นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งต่อไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมายการเงินการคลัง และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ไปยื่นเรื่องซ้ำต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาส่งต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยสั่งระงับโครงการนี้ พร้อมตั้งคำถามเบื้องต้น

หากหวังจะช่วยเหลือคนจนจริง ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด จะป้องกันการหักค่าหัวคิวต่อคนที่ไม่ถนัดใช้แอพพลิเคชั่นได้ นอกจากโครงการนี้หวังจะช่วยคนรวย แต่เอาคนจนมาเป็นข้ออ้าง

นอกจากนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯ ได้เคลื่อนไหวยื่นเรื่องให้ตรวจสอบโครงการนี้ นอกจากยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยื่นต่อประธานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว อีกเป้าหมายหนึ่งคือ ป.ป.ช. หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระ และเคยมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบดำเนินการกับโครงการรับจำนำข้าวที่โด่งดังของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ และต่อเนื่องมาจากรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีความเคลื่อนไหวจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคน รวมทั้ง นายสมชาย แสวงการ ออกมาทวงถามเรื่องงบที่จะใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือซูเปอร์แอป เพราะไม่เชื่อว่าจะใช้งบประมาณน้อยอย่างที่นายกรัฐมนตรีพูด และได้ชี้ชวนให้ไปดูหลักฐานการทำแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ของธนาคารกรุงไทย ที่ต้องใช้งบในการพัฒนาแพลตฟอร์มถึง 12,000 ล้านบาท ทั้งที่มีประชาชนใช้เพียง 40 ล้านคน ไม่ใช่ 56 ล้านคนอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ที่เกาะติดเรื่องนี้เช่นกัน คือพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ที่ออกโรงเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้ระวังอย่าให้ซ้ำรอยกับนโยบายรับจำนำข้าว

ต้องไม่ลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือผู้เปิดประเด็นอภิปราย โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างเข้มข้น ในญัตติซักฟอกรัฐบาลเมื่อเดือน พ.ย.2555 และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

และท้ายที่สุดไปถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนถึงศาลนัดตัดสินชี้ขาดแค่วันเดียวเมื่อปี 2560

นพ.วรงค์ ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นมือปราบโครงการรับจำนำข้าว ชี้แจงว่า ความเหมือนระหว่างโครงการรับจำนำข้าวกับดิจิทัลวอลเล็ต คือเริ่มต้นมีเสียงเตือนจากองค์กรที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง

นักวิชาการ ป.ป.ช. องค์กรอิสระในประเทศ รวมทั้งเวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ และบริษัทจัดอันดับเรตติ้งในต่างประเทศ ออกโรงเตือนคล้ายๆ กับเสียงเตือนที่เริ่มดังในขณะนี้ ถัดมาคือข้ออ้างรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ช่วยเหลือชาวนาคนยากจน ขณะที่ดิจิทัลวัลเล็ต ก็อ้างช่วยเหลือคนจน แจกทุกคนแต่เอาคนจนมาต่อรอง

ประเด็นที่ 3 คือ มีการสวมรอยใบประทวนข้าว ในโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่ดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อว่า จะมีการสวมรอยสิทธิ์โทเคนแทนคนจนเช่นกัน และประการที่ 4 คือก่อให้เกิดภาระหนี้ของชาติ แต่ให้ประชาชนต้องมาชำระแทน หลักการจะคล้ายกัน

ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายสนับสนุน อาจตั้งข้อสังเกตหรือให้เหตุผลว่า เสียงค้านหรือคนต่อต้าน ล้วนเป็นคนหน้าเดิม ชุดเดิม ขาประจำเดิม ที่ไม่เอารัฐบาลนี้มาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างที่ สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ออกมาตอบโต้

ไม่ว่าฝ่ายไหนจะถูกผิดอย่างไร แต่ได้สะท้อนปัญหา “ยังไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ที่ยังคงดำรงอยู่ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง