29 ตุลาคม ของทุกปี "วันสะเก็ดเงินโลก" โรคผิวหนังที่ควรรู้จัก

สังคม
29 ต.ค. 66
10:58
1,109
Logo Thai PBS
29 ตุลาคม ของทุกปี "วันสะเก็ดเงินโลก" โรคผิวหนังที่ควรรู้จัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
29 ตุลาคม ของทุกปี "วันสะเก็ดเงินโลก" มาทำความเข้าใจ "โรคสะเก็ดเงิน" โรคผิวหนังเรื้อรัง ที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และทุกเชื้อชาติทั่วโลก มีสาเหตุจากอะไร และหากเป็นแล้วผลกระทบจากโรคจะเป็นอย่างไร

"วันสะเก็ดเงินโลก" (World Psoriasis Day) กลับมาอีกรอบในปี 2566 โดยวันนี้เป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค รวมถึงทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังนี้

รู้จัก "โรคสะเก็ดเงิน" หรือ Psoriasis

"สะเก็ดเงิน" เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้บ่อย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก อาการแสดงที่สําคัญ คือ ผื่นแดง นูน ขอบเขตชัดเจน มีขุยหนาสีเงินปกคลุมที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ

ในบางคนเป็นตุ่มหนอง กระจายทั่วร่างกายและหนังศีรษะ มีเล็บผิดปกติร่วมด้วย โดยผื่นอาจมีอาการคันหรืออาจมีอาการข้ออักเสบผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย นอกจากโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการแสดงทางผิวหนัง โรคนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ อีกด้วย เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เบาหวาน ไขมันสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น 

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

"สะเก็ดเงิน" เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยความชุกของโรคในประชากรทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 2 บางประเทศพบผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 4.7 ของประชากร ส่วนในประเทศไทย จากสถิติของกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังพบว่า มีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ สถาบันโรคผิวหนังได้เคยมีการเปรียบเทียบย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี 2557 – 2560 มีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมารับบริการเป็นลำดับที่ 3 ตลอดระยะเวลา 4 ปี ส่วนผู้ป่วยในพบมีการรับผู้ป่วยเป็นคนไข้ในเป็นลำดับแรก ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยมารับบริการการตรวจรักษาประมาณวันละ 75 คน ขณะที่ ในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินรายใหม่จำนวนกว่า 2,600 คน

"โรคสะเก็ดเงิน" เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

มาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า โรคสะเก็ดเงิน เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วหากเป็นแล้วจะต้องทำอย่างไร มันจะรุนแรง หรือน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน

"โรคสะเก็ดเงิน" ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องใช้ยาในการประคับประคองอาการตลอดชีวิต ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด และจากหลักฐานในปัจจุบันพบว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ 1."พันธุกรรม" มีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยบางคนไม่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินเลยด้วยซ้ำ 2."ระบบภูมิคุ้มกัน" และ 3."ปัจจัยกระตุ้นภายนอก" 

แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ผื่นสะเก็ดเงินเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนังที่มีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ชึ่งเกิดจากการกระตุ้นของสารเคมีในเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ ชนิดเซลล์ที ทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นผื่นขนาดใหญ่ตามร่างกาย ลักษณะผื่นนูนแดง มีสะเก็ดสีขาวพบได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยบริเวณ หนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า หรือเล็บ บางครั้งพบที่อวัยวะเพศ

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

"สะเก็ดเงิน" มีกี่ชนิด ? 

  • ผื่นหนาเฉพาะที่ (psoriasis vulgaris) พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัดเจน ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า "โรคสะเก็ดเงิน" พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี
  • ผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน
  • ตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในคนที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดงและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น
  • สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) มีรอยโรคในบริเวณซอกพับของร่างกาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ และใต้ราวนม เป็นต้น ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรัง และมักไม่ค่อยมีขุย
  • สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
  • เล็บ (Psoriatic nails) ผู้ป่วยมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป
  • ข้ออักเสบ (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือ หลายข้อ 

"โรคสะเก็ดเงิน" รักษาอย่างไร ?

สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค กล่าวคือ เป็นการรักษาให้โรคสงบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นโรคอาจกลับมากำเริบได้อีก การรักษาตามความรุนแรง ซึ่งอาจต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ด้วย

สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า หากไม่มีโรคแทรกและเป็นสะเก็ดเงินน้อยกว่าร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกายจะใช้ยาทาเป็นหลัก แต่หากเป็นเกินร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกายหรือเป็นบริเวณที่มีปัญหามาก ๆ เช่น บริเวณใบหน้า อวัยวะเพศ ฝ่ามือ อาจจะพิจารณาใช้การฉายแสง หรือการให้ยารับประทาน หรือ ยาฉีดทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็น

กรณีมีโรคแทรกซ้อนก็จะรักษาตามโรคแทรกซ้อน เพราะบางครั้งสะเก็ดเงินเข้าข้อและทำให้เกิดความพิการ และโรคสะเก็ดเงินจะมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีน้ำหนักเกินจะต้องมีการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันและโรคหัวใจ เพราะกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากขึ้น

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

วันสะเก็ดเงินโลก

เช็กปัจจัยเสี่ยง - ปัจจัยแวดล้อม ที่ทำให้โรคกำเริบ ?

นอกจากนี้ ต้องแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้โรคกำเริบ เช่น

  • การดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อบางชนิด ที่พบบ่อยคือติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการสะเก็ดเงิน
  • การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

"โรคสะเก็ดเงิน" ทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร ?

  • อาการผื่นตามผิวหนังอาจส่งผลด้านบุคลิกภาพ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ
  • หากเป็นนาน ๆ อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย
  • อาการคัน ไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่สร้างความรำคาญ
  • หากมีอาการทางข้อแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อผิดรูป และพิการได้

ข้อควรปฎิบัติในผู้ป่วย "โรคสะเก็ดเงิน"

  • อย่าเครียด ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • เลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการแห้งของหนังศีรษะ หรือ ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผื่นสะเก็ดเงิน เพราะนั้นอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และลุกลาม
  • หากติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินได้ ควรรีบรักษา

ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย ซึ่งควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เช่น กลุ่มคนอายุน้อย บางครั้งมีอาการทางข้อนำมาก่อน กลุ่มนี้มักมีความรุนแรง อาจมีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องได้รับการดูแลข้ออย่างดี ป้องกันอาการข้อผิดรูป ส่วนกลุ่มคนอายุมาก อาจทำให้มีอาการทางข้อ เช่น ปวดข้อ หรือตึงที่มือ

ออกกำลังกาย

ออกกำลังกาย

ออกกำลังกาย

ข้อแนะนำสำหรับ "คนรอบข้าง" ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

นอกจาก "โรคสะเก็ดเงิน" จะส่งผลกระต่อต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ด้านจิตใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรให้ความสำคัญ เพราะกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิดถือเป็น "ยา" ที่ช่วยเยียวยารักษาโรคให้มีอาการดีขึ้น และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

  • คนรอบข้างผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจว่า โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ และเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อและไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
  • คนรอบข้างควรให้กำลังใจและคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษากับผู้ป่วย แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทำให้โรคสงบได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่เพิ่มความเครียดให้กับผู้ป่วย เพราะโรคนี้มีความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

แหล่งข้อมูล 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,สถาบันโรคผิวหนังองค์การเภสัชกรรม, สสส.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง