"ยีนกระโดด" อาจเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยชะลอความแก่

Logo Thai PBS
"ยีนกระโดด" อาจเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยชะลอความแก่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยฮังการีไขเคล็ดลับชะลอการสูงวัย โดยเปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับยีนกระโดด บทสำคัญของยีนบางส่วนที่มีผลต่อการทำให้ร่างกายของเรามีอายุมากขึ้น

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏจักรที่มนุษย์ต้องพบเจอ แต่ใคร ๆ ก็ล้วนไม่อยากแก่กันทั้งนั้น เพราะการแก่ตัวมักมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ ความร่วงโรย การเคลื่อนที่ที่ไม่สะดวก และผิวที่เหี่ยวย่น ไม่เต่งตึงกระชับเหมือนหนุ่มสาว ฉะนั้นหากหยุดยั้งหรือชะลอความแก่ไว้ได้ก็คงจะดี นักวิจัยชาวฮังการีจึงได้ออกมาเปิดหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับวิถีทางที่จะควบคุมความชรา โดยพบว่าการหยุดลำดับ DNA ที่เคลื่อนที่ได้บางส่วนในพยาธิตัวกลมช่วยให้อายุยืนยาวขึ้นได้ ซึ่งการค้นพบนี้ไม่เพียงแต่ให้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับอายุของเราเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูสู่การประยุกต์ใช้ที่มีศักยภาพในด้านชีววิทยาและการแพทย์อีกด้วย

ใน DNA ของคนเรามีองค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (Transpoable elements) เป็นลำดับที่สามารถย้าย หรือ กระโดดจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง หาก DNA เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวทางชีวภาพสำหรับร่างกายเราองค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิมพ์เขียวที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาภายในจีโนมได้ ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติในมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ แต่หากไม่ได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้

งานวิจัยได้ระบุลำดับของปฏิกิริยาโมเลกุลที่เรียกว่าวิถี Piwi-piRNA และสร้างบทบาทในการควบคุมองค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งนักวิจัยต้องการพิสูจน์เชิงทดลองวิถีการทำงานของ Piwi-piRNA ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบ P ในวิถี RRNA คือกรดนิวคลีอิก ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและกระบวนการต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตและสังเคราะห์โปรตีน การจัดการกับวิถี Piwi-piRNA จึงน่าจะเป็นการควบคุมการเจริญเติบโตของจีโนม ซึ่งอาจช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการชรา

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าหนอนจะมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อกิจกรรมขององค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ลดลงผ่าน Piwi-piRNA ซึ่งบ่งชี้ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของเรามีอายุมากขึ้นก็เนื่องมาจากวิธีที่ยีนกระโดดเหล่านี้เคลื่อนไหวไปมาในจีโนม DNA นอกจากนี้ นักวิจัยยังสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของ DNA N6-adenine methylation ภายในส่วนขององค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงประเภทหนึ่งของการทำงานของยีนที่เพิ่มการทำงานขององค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เมื่อหนอนมีอายุมากขึ้น โดยมีความหมายว่า องค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้จะทำงานมากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น

ผลการทดสอบนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และอาจสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์ประกอบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อที่จะลดการแก่ตัวของเซลล์ ซึ่งอาจส่งผลให้ประชากรสูงอายุมีปัญหาเรื่องโรคภัยน้อยลงได้

ที่มาข้อมูล: sciencealert, newatlas, elte, nature
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง