ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน

ไลฟ์สไตล์
26 ต.ค. 66
15:48
9,009
Logo Thai PBS
ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยังไม่มีข้อสรุปว่า "บั้งไฟพญานาค" เกิดจากพญานาคจริงๆ ก๊าซมีเทน หรือฝีมือมนุษย์ แต่สิ่งที่สรุปได้คือ แม้จะต่างที่มาและเรื่องเล่า แต่พลังศรัทธา ความเชื่อ ความนับถือ ยกย่อง "พญานาค" เป็นสัตว์ชั้นสูงในสังคมไทยนั้น ยังถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

พญานาค มีอยู่จริงหรือไม่ ? 
บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ?

หลายชุดข้อมูล หลายความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมา จากเกร็ดนิทานปรัมปรา เรื่องเล่าทางพุทธศาสนา อภินิหาร ความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติมีจริงหรือไม่ แต่ศรัทธามหาชนในช่วงเทศกาลออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำโขงไทย-ลาว ที่เฝ้าดูดวงไฟสีชมพู พุ่งขึ้นจากลำน้ำ อาจอธิบายไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอยู่จริง 

พญานาค

พญานาค

พญานาค

ในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "นาค" ในวัฒนธรรมไทย โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ได้อธิบายเรื่องของ "นาค หรือ พญานาค" ไว้ว่า 

นาค เป็นเรื่องของความเชื่อพื้นถิ่นในหลายพื้นที่ ที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญคือ เกี่ยวกับแม่น้ำ และ ประเพณีที่เกี่ยวกับน้ำ

นาคในวรรณคดีไทย

ตามตำนาน คนไทยมีความเชื่อเรื่องของนาคมาอย่างยาวนาน เท่าที่ปรากฏได้ชัด ก็ตามวรรณคดีตั้งแต่สมัยปลายสุโขทัย "ไตรภูมิกถา" ที่ระบุไว้ว่า นาคคือ เดรัจฉานภูมิ และแบ่งเผ่าพันธุ์การเกิดของนาคเป็น 2 เผ่าพันธุ์ คือ ชลชะพญานาค (นาคที่เกิดในน้ำ มาจาก ชล แปลว่าน้ำ, ชะ หรือ ชะตา แปลว่าเกิด) และ ถลชะพญานาค (นาคที่เกิดบนบก มาจาก ถล แปลว่าที่บก ที่ดอน และ ชะ หรือ ชะตา แปลว่าเกิด) 

ต่อมาในสมัยอยุธยา มีเรื่องราวเขียนถึง นาค มาอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้แต่งหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวของ นาค โดยเฉพาะ แต่เมื่อเปิดในวรรณคดีสำคัญๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ, อนิรุทธ์คำฉันท์, นันโทปนันทสูตรคำหลวง หรือแม้แต่กาพย์เห่เรือ ต่างก็มีบางส่วนที่เขียนพรรณนาถึง นาค ทั้งสิ้น 

เรื่อยยาวถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในวรรณคดีรามเกียรติ์ ก็ยังใช้นาคเข้ามามีบทบาท คือ ศรนาคบาศ อาวุธประจำกายของอินทรชิต บุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ในศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ อินทรชิตยิงศรนาคบาศ ที่เมื่อยิงออกไปแล้วจะกลายเป็นนาคจำนวนมาก ทั้งกัด ทั้งรัด พ่นพิษใส่พระลักษมณ์ และ ไพร่พลวานรทั้งกองทัพ พิเภกเห็นเหตุการณ์จึงแจ้ง พระรามให้แผลงศรที่เรียกว่า พญาสุบรรณ เรียกพญาครุฑ มาจิกกินนาค เหตุการณ์จึงคลี่คลาย (สุบรรณ แปลว่า ครุฑ) 

อินทรชิต และ ศรนาคบาศ

อินทรชิต และ ศรนาคบาศ

อินทรชิต และ ศรนาคบาศ

พญาครุฑ

พญาครุฑ

พญาครุฑ

เมื่อนั้น ลูกท้าวทศพักตร์ยักษา 
เห็นศรพระลักษมณ์แผลงมา เป็นพญาครุฑาฤทธิรอน 
ถาโถมโจมจับนาคบาศ ทำอำนาจดั่งพญาไกรสร 
พ่ายแพ้ตายสิ้นในอัมพร โกรธดั่งไฟฟอนจ่อใจ 

นาคในความเชื่อทางศาสนา 

บอกชัดเจนไม่ได้ว่า "นาค" มาจากศาสนาใด แต่เท่าที่ความเชื่อทางศาสนาถูกส่งต่อ พบว่า นาคที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์กลางเกษียรสมุทรเป็นความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขณะที่นาคในศาสนาพุทธที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ "การบวชนาค" 

การบรรพชาอุปสมบท

การบรรพชาอุปสมบท

การบรรพชาอุปสมบท

สมัยพุทธกาล นาค เคยแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมาขอบวชเป็นภิกษุ แต่เมื่อนอนหลับกายที่เป็นคนจะเปลี่ยนกลับไปเป็นนาคดังเดิม ความรู้ถึงพระพุทธเจ้า นาคจำเป็นต้องสึก แต่ด้วยความตั้งใจศึกษาในพระธรรม จึงทูลขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตนเองบวชไม่ได้ ต่อไปหากมีมนุษย์คนใดบวช ขอให้เรียกว่า "บวชนาค" ก่อน เพื่อให้ได้บุญกุศลต่อตนเอง 

ในการบวชพระในสังคมไทย จึงเกิด "คำขานนาค" ขึ้นมา และมีข้อหนึ่งที่ต้องถามผู้ที่จะบวชว่า 
มะนุสโสสิ - เป็นมนุษย์หรือไม่ นั่นเพราะเหตุที่เคยมีนาคมาบวชนั่นเอง 

ส่วนนาคในความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู เชื่อกันว่า พญานาคเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ซึ่งมีชื่อว่าพญาอนันตนาคราช เป็นต้นกำเนิดของตำนานนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือที่คุ้นหูกันมาอย่างยาวนาน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง ที่เคยถูกโจรกรรมไปเมื่อ พ.ศ. 2503 ในช่วงสงครามเวียดนาม และได้คืนมาในปี 2531 

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นพุทธและพราหมณ์ แต่ลักษณะการบูชาหรือพิธีบวงสรวงพญานาคกลับมีความเชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน 

นาคในสังคมไทย

ความเชื่อเรื่อง นาค ทางนามธรรม ถูกแปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมผ่านการสร้างวัตถุ หรือ สถานที่ต่างๆ โดยที่ทั้ง นาค และ ครุฑ คือสัตว์ในตำนานเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่คนไทยนำมาประดับในสิ่งสำคัญต่างๆ อ.ธงทอง ยกตัวอย่างพระราชลัญจกรประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์

พระราชลัญจกรในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ

พระราชลัญจกรในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ

พระราชลัญจกรในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ

สันนิษฐานจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเขียนโดย ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ว่า พระราชลัญจกรในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ และรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์จักรี ที่เป็นรูปครุฑยุดนาค ในขณะที่พระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธยในรัชกาลอื่นนั้น เป็นสถานที่ หรือ สิ่งของมงคล 

พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2 ราชวงศ์จักรี รูปครุฑยุดนาค

พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2 ราชวงศ์จักรี รูปครุฑยุดนาค

พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2 ราชวงศ์จักรี รูปครุฑยุดนาค

เรือพระที่นั่งในขบวนเรือพระราชพิธี ก็มีเรือที่เกี่ยวกับ นาค เช่นกัน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ที่มีโขนเรือเป็น "พญาอนันตนาคราช" หรือนาค 7 เศียร และ เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ มีโขนเรือเชิดเรียวจำหลักและปิดทองเป็นรูปพญานาคจำนวนมาก 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

ตราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "พระพิรุณทรงนาค" เครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ โดย นาค สื่อความหมายเป็นพาหนะของพระพิรุณ และ เป็นกำลังของการให้น้ำ สอดคล้องกับปฏิทินไทยที่จะมี "เกณฑ์นาคให้น้ำ" เป็นส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนน้ำในโลกแต่ละปี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนนาคให้น้ำ ปี 2566 เป็นปีนักษัตรเถาะ มีนาคให้น้ำ 2 ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกพอดี กลางปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกมาก ส่วนปีหน้า ปีนักษัตรมะโรง มีนาคให้น้ำ 3 ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกมาก กลางปีฝนตกพอดี ปลายปีฝนตกน้อย

ตรากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ตรากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ตรากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อุโบสถของวัดไทยแทบทุกแห่งก็มีบันไดนาค ตามคตินิยมที่ว่า นาค ยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้ 

บันไดนาคตามวัดไทยในหลายจังหวัด

บันไดนาคตามวัดไทยในหลายจังหวัด

บันไดนาคตามวัดไทยในหลายจังหวัด

นาคในท้องถิ่นไทย

ในประเทศไทยมีความเชื่อเรื่อง นาค เป็นของตนเองในแต่ละพื้นถิ่น เช่น จ.น่าน ในประเพณีการแข่งเรือยาว เรือทุกลำเป็น พญานาค แทบทั้งสิ้น และที่วัดภูมินทร์ วัดชื่อดังใน จ.น่าน ที่บันไดนาคหน้าอุโบสถวัด จะเห็นหัวนาค 2 ตัว ส่วนลำตัวทอดยาวรองรับอุโบสถวัด และหางเลื้อยยาวออกมาทางท้ายอุโบสถ 

ส่วนเรื่องที่ยังเป็นข้อโต้เถียงกันไม่จบในสังคมไทย "บั้งไฟพญานาค" ปรากฏการณ์พิเศษในคืนออกพรรษา ในอดีตชาวบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะจุดบั้งไฟที่มีลวดลายเป็น นาค ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อไปเตือนเทวดาบนฟ้า โดยใช้ นาค เป็นผู้ส่งข้อความไปว่า บัดนี้ใกล้ถึงฤดูเพาะปลูกแล้ว ขอเทวดาชั้นฟ้าดลบันดาลให้ฝนตกลงมาได้แล้ว 

ลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว

ลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว

ลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว

แถบลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว นาคจะมีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่นั้นมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการเคลื่อนตัวของพญานาค เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ชาวนาต้องดูฤกษ์ยามก่อนพิธีแรกนา ต้องดูทิศทางเพื่อให้ควายไถนาไปทิศเดียวกับเกร็ดนาค ที่ จ.หนองคาย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "นาคานคร" ส่วนหนึ่งเพราะ อ.โพนพิสัย ที่เป็นจุดๆ เดียวที่บั้งไฟพญานาคเกิด และหนองคายก็ยังเป็นที่ๆ มีประวัติศาสตร์ มีตำนาน สถาปัตยกรรม โบราณสถาน วัดวาอาราม ที่ถูกจารึกไว้ว่าเกี่ยวพันกับพญานาคมากที่สุด

ประติมากรรมไทย

ประติมากรรมไทย

ประติมากรรมไทย

เรื่องแปลกในประวัติศาสตร์

แม้ความเชื่อสมัยพุทธกาลส่งต่อกันมาว่า นาคไม่สามารถบวชพระได้ เพราะถือเป็นเดรัจฉานภูมิ แต่เมื่อค้นไปในประวัติศาสตร์ พบว่า มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์จักรีที่ได้ผนวชบวชพระ และทรงยั่งยืนในพระพุทธศาสนา จนได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าถึง 5 พระองค์ และมีการตั้งข้อสังเกตจากนักประวัติศาสตร์ว่า 3 ใน 5 พระองค์มีพระนามที่เกี่ยวข้องกับ นาค ทั้งสิ้น อ.ธงทองเล่าว่า ตอนที่ท่านประสูติก็คงไม่มีใครรู้ว่าท่านจะบวช จึงเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระราชโอรสใน ร.1) พระนามเดิม พระองค์เจ้าวาสุกรี
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระราชโอรสใน ร.4) พระนามเดิม  พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (พระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์) พระนามเดิม หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุช 
เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ที่มีพระนามหมายถึง นาค แต่ทรงผนวชเป็นพระ

เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ที่มีพระนามหมายถึง นาค แต่ทรงผนวชเป็นพระ

เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ที่มีพระนามหมายถึง นาค แต่ทรงผนวชเป็นพระ

จะเห็นได้ว่า เรื่องของ นาค หรือ พญานาค เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเสียจริง และมีความหมายเชิงมงคลมากกว่าเชิงลบ แน่นอนว่ามีเรื่องราวของ นาค ที่ประพฤติมิชอบเช่นกัน ก็เหมือนกับมนุษย์ มีทั้งคนดี-คนเลว แต่ท้ายที่สุดในคำบอกเล่าก็จะจบลงด้วย การกลับตัวกลับใจของนาค เพราะ นาค มีส่วนสำคัญต่อความเชื่อของคน การบอกผ่านธรรมะ หรือสอนคนให้ทำดี จึงใช้ นาค เป็นสื่อกลางได้เช่นกัน    

อ่านเพิ่ม 

วันออกพรรษา 2566 ประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมชาวพุทธ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง