“หลอกรถ” ว่า “จับพวงมาลัย” อยู่ ผิดกฎหมายสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018

Logo Thai PBS
“หลอกรถ” ว่า “จับพวงมาลัย” อยู่ ผิดกฎหมายสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในโซเชียลมีเดียไทยเริ่มมีการพูดถึงอุปกรณ์ที่ใช้ “หลอกรถยนต์” เมื่อเปิดใช้ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อัตโนมัติ (Autopilot) ในแง่ลบว่าอาจเกิดอันตรายกับผู้ใช้งานบนท้องถนน แต่ในสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายมานานกว่า 5 ปีแล้ว

ในกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook) ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแห่แชร์ภาพการใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้หลอกรถยนต์ว่า มือของผู้ขับกำลังจับพวงมาลัยอยู่ เพื่อให้ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อัตโนมัติ (Autopilot) ไม่ตัดการทำงานเพื่อความปลอดภัย โดยความคิดเห็นจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากในปัจจุบันรถยนต์ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ขับขี่ยังคงต้องอาศัยสมาธิของผู้ขับขี่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นมาพร้อมกับคุณสมบัติการช่วยเหลือผู้ขับขี่ โดยเฉพาะการปรับความเร็วแปรผันตามรถคันหน้าและรักษาพวงมาลัยให้รถขับตรงตามเลนจราจร อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยผู้ขับขี่ให้วางมือบนพวงมาลัยอยู่ เพื่อยืนยันว่าผู้ขับขี่ไม่ได้ละสายตาจากการจราจรเบื้องหน้า โดยหากผู้ขับขี่ฝ่าฝืนระบบดังกล่าว ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติเช่นนี้จะไม่ยอมเปิดให้ใช้งาน ทำให้มีอุปกรณ์ในลักษณะหลอกระบบของรถยนต์ถูกผลิตขึ้นมาขาย

ในสหรัฐฯ อ้างอิงจากรายงานของเว็บไซต์ The Verge ในปี 2018 ได้ระบุว่า การกระทำดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “Autopilot Buddy” นั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยผู้อำนวยการของหน่วยงานด้านความปลอดภัยบนทางหลวงของสหรัฐฯ (National Highway Traffic Safety Administration) กล่าวว่า การใช้งานอุปกรณ์ในลักษณะนี้ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ และเริ่มต้นห้ามจำหน่ายและใช้งานอุปกรณ์ในลักษณะดังกล่าว

รายงานในลักษณะเดียวกันนี้ ถูกพูดถึงไว้บนทั้งเว็บไซต์ The Washington Post และสำนักข่าว CNN เช่นกัน

จวบจนปัจจุบันการใช้งานอุปกรณ์ในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงผิดกฎหมายอยู่ ในขณะที่ข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่องของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติยังคงแตกต่างไปตามรัฐ และแม้ในบางรัฐ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% เริ่มได้รับอนุญาตให้สามารถทดสอบได้ แต่สำหรับรถยนต์ที่วางขายในตลาดทั่วไป ยังคงต้องมีคุณสมบัติที่ป้องกันให้ผู้ขับขี่ไม่ละสายตาไปจากท้องถนนอยู่

ด้วยความใหม่ของกระแสระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในไทย อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวเพิ่งถูกนำมาเป็นประเด็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีมาตรการอย่างไรกับการใช้งานอุปกรณ์ในลักษณะนี้ อาจต้องรอติดตามต่อไป

ที่มาภาพ: UNSPLASH

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง