เช็กลิสต์ปี'67 ทส.ยกเครื่องปรับแผนสู้ฝุ่น PM2.5

สิ่งแวดล้อม
28 ต.ค. 66
11:34
1,361
Logo Thai PBS
เช็กลิสต์ปี'67 ทส.ยกเครื่องปรับแผนสู้ฝุ่น PM2.5
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็กลิสต์ปี'67 ปรับแผนสู้ฝุ่น PM2.5 ยกระดับ "พัชรวาท" คุมเอง ทส.ตั้งเป้ากทม.-ปริมณฑล ลดวันฟ้าหม่นเหลือแค่ 5% จากปีก่อน 20% ด้าน กทม.กางแผน 15 เขตสีแดงขอความร่วมมือ WFH

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มพบแนวโน้มเกินมาตรฐานเฝ้าระวังมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนต.ค.นี้ ทั้งในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ภาคอีสาน ทำให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่เป็นเจ้าภาพหลักเริ่มเดินหน้าทันที โดยหลายมาตรการถูกยกระดับขึ้นเป็นกรรมการที่มีระดับรองนายกรัฐมนตรี และระดับการแจ้งเตือนภัย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน และมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคณะกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกรรมการ 

ถือเป็นกรรมการชุดใหญ่บริหารจัดการภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศโดยเฉพาะจากเดิมที่มีปลัด ทส.เป็นประธาน

นอกจากนี้บอร์ดสิ่งแวดล้อม ยังได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 โดยทบทวนมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจาก PM2.5 และยกระดับเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5.ปี 2567 รวมถึงเสนอให้มีกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

พร้อมกลไกการบริหารจัดการระดับพื้นที่ในรูปแบบศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่งหมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอน

อ่านข่าว "บิ๊กป๊อด" ชงบอร์ดสวล.คุม PM2.5 ชี้ "เอลนีโญ" ส่งผลรุนแรงขึ้น

ฝุ่นไม่ได้มาเร็ว-อากาศปิด

ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คาดการณ์  เอลนีโญจะมีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ ทำให้อากาศร้อน และแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าค่าปกติ 10% ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น

ฝุ่น PM2.5 ปีนี้ไม่ได้มาเร็ว แต่อากาศปิดเร็ว มาระยะสั้น เป็นผลจากฝุ่นที่มาจากภาคการจราจร ส่วนฝุ่นที่มาไทม์ไลน์ การเผาเตรียมแปลงยังไม่เริ่ม อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 

ขณะที่จากสถิติปี 2566 เทียบกับปี 2565 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ตั้งแต่พ.ย.2565-31 มี.ค.2566 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18% จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5เกินค่ามาตรฐาน 52 วัน เพิ่มขึ้น 184%

ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (เดือนม.ค.-พ.ค.2566) ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 107% จeนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 112 วัน เพิ่มขึ้น 60% และจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้น 356%  

กางแผนฝุ่นปี'67 มีอะไรใหม่

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ภาครัฐได้ยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 เช่น กำหนดพื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่เผาซ้ำซาก 50% และกำหนดเป้าลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงให้ได้ร้อยละ 50 หรือลดลง 3.25 ล้านไร่จากปีนี้มีพื้นที่เผาไหม้ 66% หรือ 6.5 ล้านไร่ ทั้งใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ

ขณะที่ยังตั้งเป้าจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานต้องลดลงเป็นรายภาค เช่น 17 จังหวัดภาคเหนือจากปี จาก 40% เป็น 30% ส่วนกทม.-ปริมณฑล และภาคกลาง จาก 20% เป็น 5% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 10% เป็น 5%

ส่วนระดับท้องถิ่น เช่น กทม.การแจ้งเตือนและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทั้งจากการจราจร การก่อสร้างยังคงมาตรการเดิม แต่ที่เพิ่มเติม เช่น หากจำนวนวันและฝุ่นเกิน 15 เขตในระดับสีแดง จะให้มีมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามาตรการใหม่ และจะเป็นผลโดยตรง คือการบังคับใช้มาตร ฐานน้ำมันยูโร 5 ทางการ 1 ม.ค.2567 มีผลต่อเมืองใหญ่ร่วมกับการตรวจเข้ม ทั้งการเพิ่มจุดตรวจสอบ ตรวจจับควันดำให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤต เข้มงวดวินัยการจราจร ใช้อัตราโทษสูงสุด

รวมทั้งจะมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และจัดตั้งศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) ในทุกระดับ

และยกระดับการเจรจาให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี และใช้เงื่อนไขทางการค้า ใช้การสื่อสารเชิงรุกแจ้งเตือน และตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อสั่งการระดับชาติสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบถาวร

อ่านข่าว

เตือน 24-25 ต.ค.นี้ กทม.รับมือค่าฝุ่น PM2.5 สูง

2 เดือนครึ่งป่วยฝุ่น 1.7 ล้านคน-สั่งตั้งวอร์รูม 6 จว.เหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง