หลากความเห็น "สะพานข้ามแม่น้ำโขง" เชื่อม 3 ประเทศ

ภูมิภาค
2 พ.ย. 66
11:54
373
Logo Thai PBS
หลากความเห็น "สะพานข้ามแม่น้ำโขง" เชื่อม 3 ประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งจะเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และเมียนมา แต่หลายฝ่ายอยากให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน

ชาว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งจะเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และเมียนมา ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างเองเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,400 ล้านบาท

แต่หลายฝ่ายอยากให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนที่จะลงก่อสร้างจริง เชื่อจะส่งเสริมทั้งด้านการค้า, การลงทุน และการท่องเที่ยวให้แก่พื้นที่ 

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเหลี่ยมคำ ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งกลุ่มทุนจีนภายใต้ชื่อ กลุ่มดอกงิ้วคำ ได้สัมปทานพื้นที่กว่าหมื่นไร่จากรัฐบาลลาวเป็นระยะเวลา 99 ปี เพื่อพัฒนาเมืองใหม่แบบครบวงจร ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกต่างๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ราวกับดอกเห็ด

รวมไปถึงพัฒนาเส้นทางคมนาคมสนามบิน ถนนภายในโครงการและท่าเทียบเรือริมแม่น้ำโขง ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงการเตรียมความพร้อมริมฝั่งแม่น้ำเพื่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ขึ้น เชื่อมระหว่างพรมแดนลาว ไทยและเมียนมาเข้าด้วยกันบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

น.ส.อารีย์ คำผง อายุ 43 ปี ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มองว่า การก่อสร้างสะพานดังกล่าวอาจกระทบธุรกิจการเดินเรือ ที่อาจมีผู้ใช้บริการน้อยลง แต่อาจจะส่งผลดีต่อภาคการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภาพรวม ซึ่งจะส่งผลให้การท่องเที่ยวมีความเติบโตขึ้น มีการจ่ายใช้ด้านบริการที่พักและร้านอาหารมากขึ้น

นางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ตนอยากให้สะพานแห่งนี้เกิดขึ้นจริง เพราะจะทำให้การค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ของพื้นที่มีความเติบโต

เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวก จะส่งผลให้นักลงทุน หันมาให้ความสำคัญในการลงทุนและทำการค้าด้านเชียงแสนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการขนส่งต้องอาศัยทางเรือเพียงอย่างเดียว

ในช่วงโควิด 19 การค้าทางเรือมีผลกระทบหลายประเทศปิด เช่นจีนจนถึงขณะนี้ยังไม่เปิด ซึ่งสะพานดังกล่าวทั้ง 3 ประเทศจะได้รับอาณิสงฆ์กันถ้วนนา เชื่อว่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย

นายภานุวัฒน์ ศรีสุข เครือข่ายภาคประชาชน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่าขณะนี้มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายคนยังกังวลในเรื่องวิถีชีวิต และหลายอาชีพอาจได้รับผลกระทบเช่นเรือรับจ้าง รถสามล้อหรือสองแถวรับส่งสินค้า แต่ก็ยังไม่มีการออกมาคัดค้าน

ส่วนใหญ่จะรอดูรายละเอียดที่แท้จริงของโครงการก่อน เพราะเชื่อว่าสะพานอาจทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่ดีขึ้น อาจจะมีอาชีพใหม่ออกมาทดแทน แต่หากจะสร้างจริง ก็จะต้องมีการศึกษาผลกระทบแบบรอบด้าน มองในด้านผลดี ผลเสียที่จะตามรวมถึงประโยชน์ของท้องถิ่นที่จะได้รับ

ส่วนด้านความมั่นคงหรือยาเสพติด เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะราชการคงมีการตั้งรับกันอยู่แล้ว ถึงวันนั้นค่อยว่ากันว่าจะสนับสนุนคัดค้านการก่อสร้าง

สำหรับสะพานเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาวจากฝั่งลาว-ไทย ระยะทาง 1,520 เมตร และเชื่อมต่อไปยังฝั่งประเทศเมียนมาโดยแยกตรงกลางสะพานระยะทางอีก 500 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,520 เมตร เฉพาะตัวสะพานจะยาว 460 เมตร มีเสาหลักกลางน้ำ 4 เสา และยังมีเสาเชื่อมบนบก-ในน้ำอีกจำนวนหนึ่ง

บนสะพานและโครงสร้าง เป็นถนน 4 ช่องจราจร กว้าง 20.50 เมตร ให้เดินรถแบบทางเดียวทางละ 2 ช่องจราจร และมีทางเดินเท้าหรือฟุตปาธฝั่งละ 2.5-3 เมตร เกาะกลางกว้าง 0.50 เมตร ซึ่งผู้คนสามารถเดินเที่ยวชมบนสะพานได้

ทั้งนี้จะมีสัญลักษณ์ คือมีเสาเอกอยู่กลางสะพาน เป็นรูปพระธาตุสามเหลี่ยมคล้ายมือพนมสีทอง สูง 96 เมตร กว้าง 28.50 เมตร สื่อความหมายถึงความกลมเกลียวกันด้นวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนา ใต้สะพานจะสูงสามารถแล่นเรือสินค้าลอดผ่านได้

ทั้งนี้ ได้ประเมินค่าก่อสร้างไว้ที่ 68.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,400 ล้านบาท เฉพาะตัวสะพานกลางแม่น้ำต้องใช้งบประมาณถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเอกชนยินดีจะลงทุนให้เอง

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวกระทรวงแผนการและการลงทุน ห้องการส่งเสริมและคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อพิจารณา

แต่ทางเจ้าแขวงบ่อแก้วได้รับเรื่องแล้ว เห็นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับงานด้านต่างประเทศและชายแดน จึงได้นำเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีลาว เพื่อพิจารณาแล้ว

โดยได้มีความเห็นสนับสนุนโครงการเพราะคาดว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก ยังเป็นเรื่องหารือภายในประเทศสปป.ลาว ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องมายังประเทศไทยหรือทางการเมียนมาแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง