นักวิจัยใช้ AI วิเคราะห์ยาต้านมาลาเรีย พัฒนายาฟื้นฟูมวลกระดูกจากโรคกระดูกพรุน

Logo Thai PBS
นักวิจัยใช้ AI วิเคราะห์ยาต้านมาลาเรีย พัฒนายาฟื้นฟูมวลกระดูกจากโรคกระดูกพรุน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยปักกิ่งใช้โปรแกรมอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบุสารประกอบที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย เพื่อพัฒนายาฟื้นฟูกระดูกจากโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สารประกอบไดไฮโดรอาร์เทมิซินิน (Dihydroartemisinin: DHA) มาจากพืชพื้นเมืองในเอเชีย ที่ชื่อว่าโกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อไม้วอร์มวูดหวาน ซึ่งใช้ในการแพทย์แผนจีนมานานกว่า 2,000 ปี เป็นยาต้านมาลาเรีย ซึ่งนักวิจัยพบว่าสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนได้

นักวิจัยปักกิ่งได้ใช้อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้ออกแบบไว้เพื่ออธิบายยาโมเลกุลขนาดเล็กส่งผลอย่างไรต่อการแสดงออกของยีน ซึ่งสามารถช่วยให้ค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการนำยากลับมาใช้อีกครั้ง โดยพิจารณาว่าสารประกอบใดเปลี่ยนแปลงยีนที่เกี่ยวข้องกับการแยกเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก (BMMSCs) ไปเป็นเซลล์สร้างกระดูก ซึ่งสร้างกระดูกขึ้นมา

การใช้อัลกอริทึมเพื่อประเมินว่าสารประกอบใดส่งผลต่อการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับ BMMSC ในหนูแรกเกิดและหนูโตเต็มวัย พบว่าสารประกอบ DHA เป็นสารประกอบอันดับ 1 ที่มีผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก โดยนักวิจัยได้ฉีดสารประกอบนี้ในหนูที่เป็นโรคกระดูกพรุนเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าหลังจาก 6 สัปดาห์ไปแล้วสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ตามที่คาดหวังและรักษาโครงสร้างกระดูกไว้ได้เกือบทั้งหมด

นักวิจัยได้ทำการทดลองอีกครั้งเพื่อปรับปรุงการจัดส่งตัวยาไปยังเซลล์ต้นกำเนิดไขกระดูก โดยการบรรจุสารประกอบ DHA ไว้ในอนุภาคนาโนที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ รักษาด้วยการฉีดเข้าไปในหนูที่เป็นโรคกระดูกพรุนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดพบว่ากระดูกของหนูได้รับการฟื้นฟูที่ดีมากขึ้นเกือบเทียบเท่ากับกลุ่มที่ไม่เป็นโรค และดูดีกว่าหนูที่เป็นโรคกระดูกพรุนที่ไม่ได้รับการรักษา

จากการรักษาโรคกระดูกพรุนในหนูทั้ง 2 ครั้งไม่พบการแพ้ หรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อสัตว์ที่ทดลอง จนได้ข้อสรุปว่าสารประกอบไดไฮโดรอาร์เทมิซินิน (Dihydroartemisinin: DHA) ทำปฏิกิริยากับเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก (BMMSCs) ได้ดี ช่วยในการรักษาความแข็งแกร่งและส่งผลให้สร้างเซลล์สร้างกระดูกเพิ่มขึ้น

ที่มาข้อมูล: fiercebiotech, azorobotics, newatlas, medicalxpress
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง