ความเชื่อ "ผี" ขอขมาน้ำ-ดิน สู่ประเพณีลอยกระทง

ไลฟ์สไตล์
6 พ.ย. 66
12:19
2,928
Logo Thai PBS
ความเชื่อ "ผี" ขอขมาน้ำ-ดิน สู่ประเพณีลอยกระทง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้ไว้ใช่ว่า..ความเป็นมาวันลอยกระทงและความเชื่อที่มากกว่าการขอขมาแม่น้ำ
ปี 2566 "วันลอยกระทง" ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน

ปฐมบท "ลอยกระทง" 

ข้อมูลที่ปรากฎในหนังสือ "ลอยกระทง" ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุไว้ว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผี" ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

ผีที่สำคัญยุคแรกๆ คือ ผีนํ้าและผีดิน ต่อมาเรียกชื่อด้วยคำยกย่องว่า "แม่พระคงคา" กับ "แม่พระธรณี"

ผู้คนในสุวรรณภูมิรู้ว่ามีชีวิตอยู่ได้เพราะนํ้าและดินเป็นสำคัญ จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เหยียบย่ำ ถ่ายของเสีย หรือทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็บูชาพระคุณด้วยการใช้วัสดุลอยนํ้าได้ พร้อมใส่เครื่องเซ่นไหว้ให้ลอยไปกับนํ้า

ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่นํ้าขึ้นสูงสุด ตามจันทรคติที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลางทำให้เกิดนํ้าขึ้น-นํ้าลง และเมื่อเทียบช่วงเวลากับปฏิทินตามสุริยคติที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ก็จะตกราวเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี

หลังจากรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณในสุวรรณภูมิได้ปรับพิธีกรรม "ผี" เพื่อขอขมานํ้าและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับมาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไป กลายเป็นการลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา มีหลักฐานคือรูปสลักพิธีกรรมทางนํ้าคล้ายลอยกระทง ที่ปราสาทหินบายนในนครธม ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ.1700 แต่ชาวบ้านก็ยังเข้าใจว่าเป็นการขอขมาแม่พระคงคาและแม่พระธรณี

อ่านข่าว : วันหยุดพฤศจิกายน 2566 : ไร้วันหยุดแต่ยังสนุกกับลอยกระทง

ในประเทศไทย การลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ "ลอยกระทง" แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ "เผาเทียนเล่นไฟ" ที่มีความหมายกว้างๆ ว่าการทำบุญไหว้พระ

ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยแรกๆ ก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม แขวนโคม และลดชุดลอยโคมลงนํ้า ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้

จนมาถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 ซึ่งอาจหมายความได้ว่า คำว่า "ลอยกระทง" เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต้นตำรับ "นางนพมาศ" ลอยกระทงยุครัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ศึกสงครามลดลง บ้านเมืองมั่นคง การค้ามั่งคั่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ "ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์" หรือ "นางนพมาศ" สมมติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย

ตำราดังกล่าว พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุท ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีปลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท เมื่อพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า

แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระทงทำด้วยใบตองแทนวัตถุอื่นๆ นิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้นตราบจนทุกวันนี้

ทั้งนี้ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสำนวนโวหารมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตอง ในระยะแรกจำกัดอยู่แต่ในราชสำนักกรุงเทพฯ ก่อนที่จะแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพฯ แล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา และเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศราวปี พ.ศ.2500 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก จนในที่สุดลอยกระทงก็ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยทั่วประเทศ

อ่านข่าว : แด่วันคนโสด รู้หรือไม่ ทำไม "ควีนเอลิซาเบธที่ 1" ถือพรหมจรรย์

หลากความเชื่อประเพณีวันเพ็ญเดือน 12

ประเพณีลอยกระทง แม้มีที่มาจากพิธีกรรมเกี่ยวกับ "นํ้า" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ก็มีวัตถุประสงค์หลากหลายขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ

  • บูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา
  • สักการะรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่ริมฝั่งแม่นํ้านัมมทานทีในประเทศอินเดีย
  • บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
  • บูชาพระอุปคุตตเถระที่บำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้
  • บูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
  • บูชาท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
  • แสดงความสำนึกบุญคุณของนํ้าที่ได้นำมากิน มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งนํ้านั้นๆ ไม่สะอาด
  • ลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
  • อธิษฐานขอในสิ่งที่ตนปรารถนา
  • เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

(ที่มา หนังสือลอยกระทง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)

อ่านข่าวอื่นๆ

ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน

"ข้าวต้มลูกโยน" สืบสานประเพณีตักบาตรเทโว วันออกพรรษา

"ปลาตะเพียน" ปลาพื้นเมืองคู่ครัวไทย "สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ" โปรดเสวย ในอดีตใครกินต้องโทษปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง