เรือดำน้ำสหรัฐฯ ออกโรง ส่งสัญญาณป้องปราม "อิหร่าน"

ต่างประเทศ
7 พ.ย. 66
12:08
712
Logo Thai PBS
เรือดำน้ำสหรัฐฯ ออกโรง ส่งสัญญาณป้องปราม "อิหร่าน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครบ 1 เดือนของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองตอนนี้ ไม่ได้มีแค่การทำศึกในกาซาอีกต่อไป เมื่อชาติมหาอำนาจก้าวเข้ามามีบทบาท ในเวทีระดับภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดสหรัฐฯ ส่งเรือดำน้ำเข้าไปประจำการในตะวันออกกลาง ท่าทีนี้ส่งสัญญาณอะไร ?

ชัดเจนว่าสหรัฐฯ กำลังแสดงแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อปรามมือที่ 3 ที่จะเข้ามามีส่วนพัวพันในความขัดแย้ง ในที่นี้ก็หนีไม่พ้นคู่ปรับตลอดกาลของสหรัฐฯ กับอิสราเอล อย่าง "อิหร่าน"

ปกติแล้ว สหรัฐฯ จะไม่ประกาศกร้าวเกี่ยวกับการนำยุทโธปกรณ์แถวหน้าเข้าไปในพื้นที่ไหน โดยเฉพาะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ที่ปฏิบัติการต่างๆ แทบจะเป็นความลับ 100% เมื่อไรที่สหรัฐฯ แสดงความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เมื่อนั้นวัตถุประสงค์ชัดเจน คือ การป้องปรามอริที่จะคอยฉวยโอกาสท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด

กองบัญชาการกลางกองทัพสหรัฐฯ หรือ Centcom โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X พร้อมภาพเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ ในคลองสุเอซ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของกรุงไคโร อียิปต์ เพื่อแสดงถึงการเข้าพื้นที่รับผิดชอบของเรือดำน้ำลำนี้

Centcom โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ภาพเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ ในคลองสุเอซ

Centcom โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ภาพเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ ในคลองสุเอซ

Centcom โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ภาพเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ ในคลองสุเอซ

Patrick Ryder โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเวลานี้เรือดำน้ำลำนี้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการกองเรือที่ 5 ซึ่งหมายถึงบริเวณที่ครอบคลุมอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และมหาสมุทรอินเดียบางส่วน การเข้าประจำการในครั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้ระบุรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับขีปนาวุธหรือภารกิจเพิ่มเติม

Patrick Ryder โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

Patrick Ryder โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

Patrick Ryder โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ในโพสต์ไม่ได้ระบุชื่อเรือ แต่กองทัพเรือสหรัฐฯ มีเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอพลังงานนิวเคลียร์ที่ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี 4 ลำ คือ

  1. USS Ohio
  2. USS Michigan
  3. USS Florida
  4. USS Georgia

ทั้งหมดนี้ติดตั้งทั้งขีปนาวุธโทมาฮอว์กและตอร์ปิโด แต่ละลำติดตั้งโทมาฮอว์กที่มีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูง สำหรับโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินได้มากถึง 154 ลูก

โทมาฮอว์กแต่ละลูกติดตั้งหัวรบที่บรรจุวัตถุระเบิดน้ำหนักสูงสุดถึง 1,000 ปอนด์ หรือประมาณ 453 กิโลกรัม นั่นก็เท่ากับว่าเรือดำน้ำเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายได้อย่างมากภายในเวลาอันสั้น ถือเป็นภัยคุกคามในระดับที่ศัตรูของสหรัฐฯ ไม่ว่าหน้าไหนไม่สามารถเพิกเฉยได้

วานนี้ (6 พ.ย.2566) มีรายงานว่ากำลังพลสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรีย เผชิญกับเหตุโจมตีเพิ่มอีกถึง 8 ครั้ง นับตั้งแต่วันศุกร์ ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ไปเยือนตะวันออกกลาง ส่งผลทำให้ยอดเหตุโจมตีกำลังพลสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรีย นับตั้งแต่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นถึง 38 ครั้งแล้ว

แม้จะเป็นการโจมตีประปรายที่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร แต่การส่งเรือดำน้ำเข้าไปยังภูมิภาคคราวนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนของสหรัฐฯ ไปถึงอิหร่านและกลุ่มต่างๆ ที่มีอิหร่านหนุนหลังว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมปล่อยให้เหตุโจมตีที่ใหญ่กว่านี้ผ่านไปเฉยๆ และจะต้องเผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรง

6 เดือนก่อน สหรัฐฯ เผยว่ามีเรือดำน้ำชั้นโอไฮโออีกลำหนึ่งประจำการในตะวันออกกลาง ครั้งนั้นเพราะสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านยกระดับขึ้น

ท่าทีคล้ายๆ กันนี้ยังเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ เพื่อเป็นการออกโรงสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก่อนที่ความขัดแย้งระลอกล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะปะทุขึ้นต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอเคยประจำการที่เกาหลีใต้

เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอเคยประจำการที่เกาหลีใต้

เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอเคยประจำการที่เกาหลีใต้

ไม่กี่วันให้หลัง สหรัฐฯ สั่งเคลื่อนกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม 2 กองเรือ ขยับเข้าใกล้อิสราเอลอย่างรวดเร็ว เพื่อแสดงความพร้อมและเตรียมการสนับสนุนด้านการทหาร นี่ยังไม่นับการส่งกำลังพลนับพันนายเข้าไปให้คำปรึกษาทัพอิสราเอลในปฏิบัติการที่กาซาด้วย

เท่ากับว่าเวลานี้ในตะวันออกกลาง กองทัพสหรัฐฯ มีทั้งกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม 2 กองเรือและเรือดำน้ำที่มีพลังทำลายล้างสูงประจำการอยู่ ถือเป็นการแสดงท่าทีชัดเจนตามที่ประกาศกร้าวไว้ว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งขยายวงกว้างในภูมิภาคนี้และต้องการรักษาเสถียรภาพในน่านน้ำที่พลุกพล่านและสำคัญต่อการค้าการขนส่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่ขณะเดียวกันก็ตีความได้ด้วยว่า สหรัฐฯ ก็จะไม่ลังเลเช่นกัน หากต้องเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องกำลังพลของตัวเองในภูมิภาค

วิเคราะห์โดย : วินิจฐา จิตร์กรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง