"มันสำปะหลัง" ราคาพุ่ง แนะรัฐหาท่อนพันธุ์ทนโรค

เศรษฐกิจ
8 พ.ย. 66
16:25
1,037
Logo Thai PBS
"มันสำปะหลัง" ราคาพุ่ง แนะรัฐหาท่อนพันธุ์ทนโรค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ส่งออกมันสำปะหลังราคายังพุ่ง สนค. แนะรัฐเร่งสนับสนุนขยายท่อนพันธุ์ทนโรค ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า ตอบสนองความต้องการตลาดโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.–ก.ย.) พบว่า มูลค่าการส่งออกรวม 2,907.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.30 เทียบช่วงเดียวกันของปี 65 เกิดจากการปรับตัวลดลงของปริมาณการส่งออก โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นอันดับ 1 หรือร้อยละ 36.69 ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้และส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สำหรับตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มีสัดส่วนร้อยละ 65.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทยไปโลก ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 69.70 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของจีน

ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญอื่นๆ ของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น

สำหรับการผลิตในปี 2567 เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ตั้งแต่ ต.ค.2566 ถึง ก.ย.2567 คาดว่าพื้นที่เก็บเกี่ยว 9,050,000 ไร่ ผลผลิตรวม 27.94 ล้านตัน มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3,088 กิโลกรัม/ไร่ คาดการณ์ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงม.ค.– มี.ค.2567

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ราคาซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศและราคาส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และเอทานอลทำให้แนวโน้มความต้องการในตลาดโลกขยายตัว

แม้ว่าผลผลิตมันสำปะหลังของไทยลดลง สวนทางกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากเผชิญกับโรคใบด่างและศัตรูพืช ขาดแคลนท่อนพันธุ์ที่ทนต่อโรคพืชและแมลง ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ และน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตในประเทศลดลง

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ทนโรคและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เร่งส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ให้มากขึ้นด้วย

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและความต้องการในตลาดโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคศัตรูพืช ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน

ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวน สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและโลจิสติกส์

สำหรับปัจจัยบวก ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ น่าจะเกื้อหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวอื่นๆ:

ครม.ไฟเขียวออก 2 มาตรการอุ้มชาวนาพยุงราคาข้าว

"สมคิด​" เผย ครม.จ่อถกมาตรการดึงราคาข้าวช่วยชาวนา

หักดิบคุมราคา “น้ำตาลทราย” ใคร? ได้-เสีย ประโยชน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง