ไทยส่งออกข้าวเพิ่ม 10% ยังติดหล่มพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ช้า

เศรษฐกิจ
10 พ.ย. 66
16:32
1,144
Logo Thai PBS
ไทยส่งออกข้าวเพิ่ม 10% ยังติดหล่มพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ช้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย-นายกสมาคมชาวนา เห็นพ้องรัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีหลากหลาย ใช้เวลาปลูกน้อยกว่า 100 วัน แต่ได้ผลผลิตมากกว่าไร่ละ 1 ตัน เพื่อลดต้นทุนและแข่งขันได้

วันนี้ (10 พ.ย.2566) ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมประชุมกับศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มเกษตรกร สมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินการผลิตและการค้าข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 66/67

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า ผลผลิตข้าวขาว ในขณะนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวลจากภาวะเอลนีโญ่ ซึ่งผลผลิตข้าวนาปีปีนี้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในภาคอีสานที่คาดว่าจะมีผลผลิตมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่หากผลผลิตข้าวของไทยดีก็เชื่อว่าผลผลิตของเมียนมา กัมพูชา และเวียดนามก็จะดีเหมือนกัน ขณะที่ปากีสถาน ก็มีผลผลิตในปีนี้มากเป็นประวัติการณ์

ส่วนอินเดีย ต้องจับตาดูว่าจะมีนโยบายอะไรออกมาหรือไม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมีการยกเลิกส่งออกข้าวขาวก็คาดว่าราคาในตลาดโลกจะปรับตัวลงค่อนข้างรุนแรง

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อย่างไรก็ตามคาดว่าอินเดียจะผ่อนคลาย เพราะปีนี้การเพาะปลูกของอินเดียไม่ได้รับความเสียหาย ฝนน้อยกว่าปกติ 5-6% เมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่มาก หากไม่ระบาดออกก็จะมีผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกของชาวบ้านที่จะออกมาในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.

ปัจจัยที่ยังมีผลต่อราคาข้าวในปี 67 ยังคงเป็นอินเดีย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากภาวะเอลนีโญที่เริ่มรุนแรงขึ้น แห้งแล้งมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบกับผลผลิต

พันธุ์ข้าวไทยมีน้อย-เวียดนามแซงหน้า

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวอีกว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ มีพันธุ์ข้าวหลากหลาย โดยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวทุกๆ ปีมีของใหม่ออกมา 2-3 ชนิด แต่ของไทยมีพันธุ์ข้าวที่ใช้แบบเดียวกันมากว่า 30 ปี ปลูกเฉพาะข้าวขาว ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

แปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

แปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

อีกทั้งข้าวหอมของไทย ก็มีเพียงชนิดเดียวที่โดดเด่น ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดในโลก ดังนั้นต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ที่แข่งขันได้ สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 100 วัน

ไทยไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ที่ผลผลิตต่อไร่มีปริมาณ 1 ตันขึ้นไป ต่อไปนี้อย่างน้อยต้องมีผลผลิตต่อไร่ 1.2-1.5 ตัน เก็บเกี่ยวภายใน 100 วัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ชาวนาจะได้มีสินค้ามากขึ้น ขายในราคาถูกลงและแข่งขันได้ แต่เราไม่มีพันธุ์ข้าวพวกนี้

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ คือต้องเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวและลดต้นทุนการผลิต และขณะนี้มีเรื่องคาร์บอน จึงควรจะมีการศึกษาแล้วว่าจะทำอย่างไร เพื่อลดมีเทนหรือลดการทำให้บรรยากาศเสียหาย เพราะจีนและเวียดนามก็กำลังทำ ถ้าไทยไม่ทำในอนาคตข้าวที่จะส่งไปยุโรปต้องเสียภาษีตันละ 200 ยูโร ก็อาจทำให้ตลาดเหล่านี้หายไปได้

บรรยากาศการประชุมเพื่อหารือการเพาะปลูกข้าว

บรรยากาศการประชุมเพื่อหารือการเพาะปลูกข้าว

บรรยากาศการประชุมเพื่อหารือการเพาะปลูกข้าว

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรแก้กฎหมายให้นำเข้าข้าวเปลือกเข้ามาได้ง่ายขึ้นในการศึกษา เพราะการนำเข้าข้าวเปลือกหนึ่งตัวในการศึกษาใช้เวลานานและต้องมีงบประมาณในการพัฒนา

ต้องไม่กลัวที่จะเอาพันธุ์ข้าวของคนอื่นเข้ามาเปรียบเทียบกับของไทย มาดูว่าของเราดีแบบไหน ของเขาดีแบบไหน แล้วมาเอามาพัฒนา ถ้าไม่ได้ตันกว่าต่อไร่และไม่ไวแสง อย่าทำ และต้องปลูกได้ตลอดปี

เมื่อถามถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมา ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า มาตร การใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่มีคำว่า “ประกัน” และ “จำนำ” แต่นโยบายอื่นๆ เช่น การรวบรวมข้าวเปลือก การจำนำยุ้งฉาง ให้ดอกเบี้ย ให้โรงสีเก็บข้าวเปลือก เป็นมาตรการที่เคยทำมาแล้วทั้งสิ้น และในปีนี้เน้นบทบาทของสหกรณ์ในการรวบรวมข้าวเปลือก จึงต้องติดตามผลการดำเนินงานเพราะยังไม่เคยทำมาก่อน รวมถึงต้องพิสูจน์ความสามารถของแต่ละสหกรณ์ด้วย

อ่านข่าว ครม.ไฟเขียวออก 2 มาตรการอุ้มชาวนาพยุงราคาข้าว

ขณะที่นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกขาวของรัฐบาลควรทำอย่างยั่งยืน นโยบายช่วยเหลือต่างๆ ควรกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องกลับมาพูดกันใหม่อีกครั้ง

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย

ส่วนนโยบายที่ให้สหกรณ์ช่วยซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อดึงราคา อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เพราะเป็นห่วงเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวอาจไม่ทันเข้าโครงการนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรการอย่างเร่งด่วนคือ การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

ข้าวที่เกษตรกรปลูกจะเก็บไว้ปีต่อปี เป็นพันธุ์เดิมๆ จึงอยากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแท้ให้ได้ผลผลิตต่อไร่เยอะออกมาแจกจ่าย หรืออาจให้ศูนย์ข้าวชุมชนที่มีประสิทธิภาพหรือเอกชนดำเนินการ

ตอนนี้ข้าวที่ผลิตได้ไร่ละประมาณ 800 กก. ใช้เวลา 4 เดือน อยากให้เหมือนต่างประเทศแค่ 3 เดือนได้ผลผลิตไร่ละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตเพราะได้ผลิตสูง

นายกสมาคมชาวนาและเกษตรไทย กล่าวอีกว่า พันธุ์ข้าวที่ผลิตออกมาจะต้องทนต่อโรค ได้ผลผลิตสูงและใช้เวลาในการเพาะปลูกไม่นาน ดังนั้นจึงอยากขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมาให้สามารถแข่งขันได้

รวงข้าวสีทอง รอวันเก็บเกี่ยวผลผลิต

รวงข้าวสีทอง รอวันเก็บเกี่ยวผลผลิต

รวงข้าวสีทอง รอวันเก็บเกี่ยวผลผลิต

คาดทั้งปี 66 ไทยส่งออกข้าว 8.5 ล้านตัน

สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค.นี้ รวมกว่า 7 ล้านตัน ส่วนในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ คาดว่าจะส่งออกรวม 1.5 ล้านตัน หรือเดือนละ 7.5 แสนตัน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าทั้งปี 2566 จะส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 8.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2565

ส่วนการส่งออกข้าวของ “เวียดนาม” ที่ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมรายใหญ่ของโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.2566 มีปริมาณการส่งออกข้าวกว่า 6.4 ล้านตัน

ขณะที่ท็อป 5 ประเทศที่ส่งออกข้าวคือ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2565 อินเดียส่งออกอยู่ที่ 22.25 ล้านตัน ไทย 7.71 ล้านตัน เวียดนาม 6.31 ล้านตัน ปากีสถาน 4.51 ล้านต้น และสหรัฐฯ 2.16 ล้านตัน

อ่านข่าว

ไร่ละ 1,000 ! ชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือน รับเงินช่วยเหลือ พ.ย.นี้

"ดิจิทัลวอลเล็ต" แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นฝาก 5 แสน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง