เกือบทั้งปีป่วย "ไข้เลือดออก" 1.2 แสนคน พบลูกน้ำยุงลายสูงสุดในวัด

สังคม
13 พ.ย. 66
08:43
2,427
Logo Thai PBS
เกือบทั้งปีป่วย "ไข้เลือดออก" 1.2 แสนคน พบลูกน้ำยุงลายสูงสุดในวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.เผยตั้งแต่ 1 ม.ค.-1 พ.ย.66 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 123,000 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 3.4 เท่า ล่าสุดจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายพบสูงสุดในวัด

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2566 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ "โรคไข้เลือดออก" ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 พ.ย.2566 มีผู้ป่วยสะสม 123,081 คน เสียชีวิต 139 คน ซึ่งผู้ป่วยในปี 2566 พบว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 3.4 เท่า โดยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ล่าสุด 3,613 คนและอัตราป่วยตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี

แม้จะพบการรายงานผู้ป่วยลดลง แต่ในบางพื้นที่ยังคงพบการระบาดและช่วงนี้ประเทศไทยมีเทศกาลบุญต่อเนื่อง เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่าและลอยกระทง จะมีประชาชนเข้าวัดทำบุญจำนวนมาก จึงย้ำการจัดการให้วัดปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและป้องกันยุงลายกัด

ล่าสุดข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์โดยการสำรวจลูกน้ำยุงลายเพื่อประเมินความเสี่ยงยุงลายในพื้นที่หลัก 7ร. คือ กลุ่มโรงธรรม (วัด-มัสยิด-โบสถ์) โรงแรม-รีสอร์ต โรงเรือน (บ้าน-อาคาร) โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาลและสถานที่ราชการ พบว่า วัดเป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำยุงลายสูงสุด ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือ โรงงาน-สถานที่โดยรอบ ร้อยละ 55.6 และโรงเรียนร้อยละ 46.0

นพ.ธงชัย กล่าวย้ำว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ดังนั้นคนๆ หนึ่งจะเป็นโรคไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง และหากได้รับเชื้อซ้ำในต่างสายพันธุ์กันจะเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น หากพบผู้สงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลงนานเกิน 2 วัน หน้าแดง ตาแดง ปวดท้องถ่ายดำ มีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดา ให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อย่าปล่อยไว้ ให้รีบรับการรักษาจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตลงได้

ที่สำคัญ เมื่อเป็นไข้ห้ามซื้อยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือยาแอสไพริน ทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย ให้ใช้ยาพื้นฐานคือ ยาพาราเซตามอล ทานก่อน

ทั้งนี้ จากการสอบสวนหาสาเหตุของผู้เสียชีวิตยังพบปัจจัยเสี่ยงที่ต้องย้ำเตือนคือ การไปรับการตรวจวินิจฉัยช้าในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมักมีโรคประจำตัวทำให้เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคตับแข็งจากการติดสุราเรื้อรังในผู้ชาย การอยู่ในช่วงมีประจำเดือนในผู้หญิง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็กพบว่าเป็นภาวะอ้วน

อ่านข่าวอื่นๆ

รู้จักไวรัส "hMPV" อาการคล้าย "ไข้หวัดใหญ่ - โควิด - RSV"

แพทย์เตือนรับวัคซีน หลังพบ 47% ของคนเข้ารพ. ป่วย "ไข้หวัดใหญ่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง