“เติมสุขโมเดล” สร้างสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม หลังถ่ายโอน รพ.สต.

สังคม
14 พ.ย. 66
15:34
357
Logo Thai PBS
“เติมสุขโมเดล” สร้างสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม หลังถ่ายโอน รพ.สต.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้งใหญ่ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บิ๊กล็อต 61 จังหวัด รวม 4,196 แห่ง กำลังนำระบบสุขภาพปฐมภูมิ ก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่

อบจ.สงขลา เป็น 1 ใน 6 พื้นที่นำร่อง ภายใต้โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแม่งาน สานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายใน จ.สงขลา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ที่แห่งนี้ไม่เหมือนที่อื่น เพราะสงขลาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระดับอำเภอ ด้วยความเชื่อที่ว่า หากสร้างเอกภาพระหว่างแต่ละอำเภอให้เกิดขึ้นได้ การจะขับเคลื่อนภารกิจ รพ.สต. จะบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในอำเภอที่รับการถ่ายโอนฯ รพ.สต. มาทั้งอำเภอ

สถานการณ์ตอนนี้ อปท. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชน จะเข้าช่วยบริหารจัดการและแบ่งเบาภาระงานของภาครัฐ รวมทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้โครงการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หรือกระทั่ง รพ.สต. ที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ระบบบริการมีความเป็นเอกภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ฉะนั้นเมื่อต้องการสร้างเอกภาพ กระบวนการหลอมรวมจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาคำตอบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในจังหวัด จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือกลไกเฉพาะ ซึ่งสงขลา มีฐานทุนเดิมมาก่อนแล้ว นั่นคือ "เติมสุขโมเดล"

สำหรับเติมสุขโมเดล คือการเปิดพื้นที่กลางให้หลากหลายหน่วยงานเข้ามาบูรณาการความร่วมมือ ทั้งเชิงข้อมูล ทรัพยากร งบประมาณ ตลอดจนกำหนดทิศทางและวางเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมี อบจ.สงขลาเป็นแกนกลาง

ในภารกิจถ่ายโอนฯ ซึ่งปัจจุบัน อบจ.สงขลา รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้วรวมทั้งสิ้น 49 แห่ง (ปี 2566 จำนวน 23 แห่ง ปี 2567 จำนวน 26 แห่ง) เติมสุขโมเดลถูกนำเข้ามาสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิด้วย

ในแง่วิชาการ เติมสุขโมเดลได้รับการสังเคราะห์-ถอดบทเรียนความสำเร็จออกมาให้เห็น โดย ผศ.ศดานนท์ วัตตธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หนึ่งในทีมวิจัยโครงการฯ ที่ได้ศึกษาบริบทความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ อปท.เพื่อพัฒนากลไกความร่วมมือ ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และสงขลา

อาจารย์ศดานนท์ พบว่า เติมสุขโมเดลเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากถ่ายโอน รพ.สต. ในเบื้องต้น เช่น จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอตามกรอบอัตรากำลัง เพราะบางแห่งมีพยาบาลวิชาชีพเพียงคนเดียว ฉะนั้นภายใต้โมเดลนี้ อบจ.สงขลา ก็มีการพยายามสร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพขึ้นมา

หรือในช่องว่างเรื่องทักษะของบุคลากรที่ถ่ายโอนฯ เพราะงานบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่เดิม เช่น งานพัสดุ งานเอกสาร งานจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ ซึ่งภายใต้โมเดลเดียวกันนี้ ทาง อบจ.สงขลา มีการอบรมให้คำปรึกษาแก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน เกี่ยวกับแนวปฏิบัติแนวทางการดำเนินงาน หรือในประเด็นการมีเครื่องมือ ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างไม่เพียงพอ อบจ.สงขลา ก็ได้ประสานกับโรงพยาบาลแม่ข่ายในการอุดช่องว่างดังกล่าว

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะเป็นไปในทิศทางใดในรายละเอียดคนในท้องถิ่นจะต้องมาออกแบบร่วมกันต่อ โดย อบจ.สงขลา ตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้ศูนย์ละ 5 แสน-1 ล้านบาท รวมถึงอนุมัติแผนการจัดทำเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้ รพ.สต.รำแดง อ.สิงหนคร และ รพ.สต.เกาะใหญ่ อ.ควนเนียง ที่อยู่ในพื้นที่นำร่องเป็นฐาน และสร้างกลุ่มเครือข่ายการให้บริการในชุมชน และที่ขาดไม่ได้เลย คือการจัดระเบียบข้อมูลของทุกหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ

นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ.สงขลา เล่าว่า หลังจากที่หน่วยงานกว่า 30 แห่ง ของ 2 พื้นที่นำร่อง จ.สงขลา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัดสงขลา (MOU) เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดย สช. และจัดทำแผนปฏิบัติการปีงบฯ 2567 เบื้องต้นแล้ว ก็จะเข้าสู่การทำแผนปฏิบัติการสุขภาพระดับพื้นที่ที่เข้มข้นต่อไป

เราจะเลือกเติมเฉพาะที่เป็นช่องโหว่แต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละที่อาจขึ้นรูปไม่เหมือนกัน เพราะมีสภาพปัญหาและต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน และหากแต่ละหน่วยงานช่วยกันเติมให้ตรงจุดมันจะเป็นภาพสมบูรณ์ ซึ่งการที่หน่วยงานในพื้นที่มาคุยกันจะตอบโจทย์พื้นที่ได้ไม่ยาก เพราะถ้าข้างล่างเชื่อมร้อยกันแน่นหนา ไม่ว่าข้างบนหรือส่วนกลางจะเป็นยังไง ข้างล่างเดินได้ภายใต้บริบทพื้นที่

ด้าน นายชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา หนึ่งในผู้พัฒนาระบบเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง ทั้งจังหวัด ผ่านแอปพลิเคชัน imed @home บอกว่า หลังจากนี้จะผลักดันให้เกิด แผนสุขภาพรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วย

เขาจะร่วมกับ อบจ.สงขลา ใช้ imed @home ที่มีระบบในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชน และผู้ป่วย ให้เกิดดูแล ปรับพฤติกรรม รวมถึงคัดกรองโรคกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าสุขภาพตนเองดีขึ้นหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าหากเป็นสมาชิกกับระบบนี้ก็จะได้เห็นข้อมูลเชิงสถิติว่า ในพื้นที่สุขภาพของใครเปลี่ยนไปอย่างไร โดยบทบาทตรงนี้ภาคประชาชนจะเป็นหน่วยงานหลัก และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ สำหรับปรับสภาพแวดล้อมระบบบริการ และแผนสุขภาพในแต่ละระดับ

นอกจากนี้จะมีการเชื่อมเครือข่ายด้านสุขภาพ ที่ไม่ได้ทำงานกับ อบจ.สงขลา แต่เป็นพาร์ทเนอร์กับมูลนิธิชุมชนสงขลา เติมเข้าไปในพื้นที่นำร่อง เพื่อใช้เป็นฐานในการทำงานร่วมกัน

อ่านข่าวอื่นๆ

 คนท้องถิ่นชี้ “โครงการแลนด์บริดจ์” กระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม "ชุมพร-ระนอง"

ผู้ประกันตน "ม.33 - ม.39" ตรวจพบ "โรคมะเร็ง 20 ชนิด ใช้สิทธิรักษาฟรี

5 สมุนไพรผักพื้นบ้าน 1 ตำรับยาไทย พิชิตเบาหวาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง