"คิลานุปัฏฐาก" โครงการพระ อสม. ดูแลสงฆ์ชราอาพาธประจำวัด

สังคม
17 พ.ย. 66
13:33
2,776
Logo Thai PBS
"คิลานุปัฏฐาก" โครงการพระ อสม. ดูแลสงฆ์ชราอาพาธประจำวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ข้อมูลของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไทยมีพระสงฆ์ สามเณร ทั่วประเทศ  288,956 รูป ขณะที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ร่างกายเสื่อมถอยมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องการความเอาใจใส่ดูแล 

"พระคิลานุปัฏฐาก"บทบาทสงฆ์ไทย

รายงานการตรวจสุขภาพพระภิกษุ-สามเณรในกรุงเทพฯ ปี 2566 จำนวน 1,518 รูป พบมีไขมันในเลือดผิดปกติ 55.4% มีภาวะอ้วน 44.3% ความดันโลหิตสูง 18.5% ภาวะเสี่ยงอ้วน 17.3% และระดับน้ำตาลในเลือดสูง 15.6%

ในขณะที่รายงานของโรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2566 พบ พระสงฆ์อาพาธเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคไตเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต และเข่าเสื่อม ส่วนผู้ป่วยในคือ ความดันโลหิตสูง การสูญเสียการเห็นปานกลาง-ข้างเดียว เบาหวานชนิดที่ 2 ต้อกระจกในผู้สูงอายุ และต่อมลูกหมากโต

แม้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะจัด"โครงการพระคิลานุปัฏฐาก" หรือพระ(คิ-ลา-นุ-ปัด-ถาก) ทำหน้าที่ปฏิบัติดูแลพระสงฆ์อาพาธ และส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรคและการจัดการปัจจัยที่คุก คามสุขภาพพระสงฆ์ ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 แต่ในแต่ละปียังมีพระสงฆ์อาพาธจำนวนไม่น้อย

นพ.ชลน่าน ชลแก้ว รมว.สาธารณสุข ระบุว่า การฟื้นฟูสภาพร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ต้องมุ่งส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัย เนื่องจากสาเหตุที่พระสงฆ์มีอาการอาพาธมาจากพฤติกรรม การฉันอาหารที่ได้รับถวายจากญาติโยม มีรสชาติ หวานมันเค็มสูง ขาดผักและผลไม้ ฉันเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขจึงปัดหมุดตอกย้ำอักครั้งกับโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ 18,171 แห่งทั่วประเทศ โดยมีการอบรม"พระคิลานุปัฏฐาก"จำนวน 13,114 รูป ทำหน้าที่ดูแลปฐมพยาบาลพระสงฆ์อาพาธ ภายในวัด ถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สงฆ์ 

"วัดโพธิ์"เปิดยูทูปสุขภาพ-ดูแลพระชรา

พระครูสังฆรักษ์นฤชิต หัวหน้าฝ่ายคิลานุปัฎฐาก วัดพระเชตุพนฯ

พระครูสังฆรักษ์นฤชิต หัวหน้าฝ่ายคิลานุปัฎฐาก วัดพระเชตุพนฯ

พระครูสังฆรักษ์นฤชิต หัวหน้าฝ่ายคิลานุปัฎฐาก วัดพระเชตุพนฯ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ พระอารามหลวง ปัจจุบันมีพระภิกษุ -สามเณร จำวัด จำนวน 180 รูป แต่ มีพระภิกษุอาพาธต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 รูป ส่วนใหญ่เป็นพระที่เจริญพรรษา เข้าสู่วัยชรา อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยังไม่นับที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ที่มากถึง 15 รูป ส่งผลกระทบต่อวัตรปฎิบัติ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น ไม่สามารถทำได้เหมือนในอดีต 

อ่านข่าว "พวงเพ็ชร" เร่งทำ "Big Data" พระภิกษุสงฆ์ ดูแลสิทธิ์รักษาพยาบาล 

พระมหาชนะ เขมจิตโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ วัย 83 ปี อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง เริ่มมีปัญหาความเสื่อมถอยของร่างกาย ความจำ การลุกยืนเดินนั่งไม่สะดวก ต้องมีพระคิลานุปัฎฐากและโยมอุปัฏฐาก เข้ามาช่วยเหลือดูแลทั้งเรื่องอาหาร การจัดยา และดูแลอำนวยความสะดวกบางอย่างที่จำเป็น

ท่านอาพาธมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังพอช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการเข้าห้องน้ำเอง ฉันอาหารเอง เพียงแต่เลือกอาหารที่อ่อนและนิ่ม เพื่อสะดวกแก่การเคี้ยว ส่วนการบริหารฟื้นฟูร่างกาย เน้นการเดินภายในกุฎิ

พระครูสังฆรักษ์นฤชิต หัวหน้าฝ่ายคิลานุปัฎฐาก เล่าว่าได้รับการถ่ายทอดการดูแลพระอาพาธมาจากพระผู้ใหญ่ ที่เคยผ่านการดูแลอดีตเจ้าอาวาส จึงมีความเข้าใจเรื่องบทบาทและหน้าที่ของผู้ดูแพระอาพาธว่า ต้องปฎิบัติหน้าที่ โดยปราศจากอารมณ์ เพราะทุกการกระทำของพระที่อาพาธนั้น อาจทำโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้มีเจตนาหงุดหงิด หรือ โกรธเคืองผู้ดูแล แต่เป็นเพราะโรค อาจทำให้แสดงออกแบบนั้น

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของวัดโพธิ์ เจ้าอาวาส จะให้จัดภัตตาหาร และของเยี่ยมจำเป็นไปเยี่ยมเสมอทุกเดือน เพื่อแสดงถึงความห่วงใยในหมู่สงฆ์ หากพระกุฎิไหนอาพาธ พระในคณะนั้น หรือ กุฎินั้นก็จะช่วยเหลือดูแล

พระครูสังฆรักษ์นฤชิต กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่เป็นกังวล และห่วงกันมาก คือ เรื่องการเข้าน้ำ เพราะพระผู้ใหญ่เมื่อสูงวัย หากล้มในห้องน้ำก็จะเสี่ยงที่จะอันตราย และยากที่ร่างกายจะฟื้นกลับมาปกติ ทำให้ต้องมีการปรับ ปรุงห้องน้ำให้มีราวจับ หรือ พื้นกันลื่น เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม

ความรู้ในการดูแลพระสงฆ์ อาศัยความรู้จากพระรุ่นก่อน และดูยูทูปเรื่องสุขภาพ โดยหน้าที่หลักเยี่ยมและติดตามพระอาพาธทุกเช้า เพื่อติดตามช่วยเหลือ

ข้อมูลรายงานประจำปี 2565 โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สาเหตุการป่วยของผู้ป่วยนอก ในกลุ่มพระภิกษุ-สามเณร เป็นความดันโลหิตสูงที่ไม่มีสาเหตุนำ 26,029 รูป ,เบาหวาน 23,452 รูป ,การติดเชื้อทางเดินหายใจ 16,297 รูป

แต่หากเป็นพระสงฆ์อายุ 60 ปี ขึ้นไป สาเหตุของการป่วย มาจาก เบาหวานมากที่สุด 11,984 รูป ,การติดเชื้อทางเดินหายใจ 11,304 รูป และ ความผิดปกติอื่นของฟันและโครงสร้าง 10,528 รูป

เปิด"กุฏิชีวาภิบาล"คู่ขนาน"คิลานุปัฏฐาก"

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า หน้าที่พระคิลานุปัฏฐาก คือ พระดูแลปฐมพยาบาลพระเบื้องต้นให้มีทักษะความรู้ในด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำพระสงฆ์ภายในวัด ตามหลักพระธรรมวินัย และเตรียมการดูแลพระผู้สูงอายุภายในวัด โดยต้องผ่านการอบรมหลักสูตรจากกรมอนามัย 72 ชั่วโมง

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระสงฆ์ 288,956 รูป ได้รับการอบรมพระคิลานุปัฎฐาก 4,000 รูป และเมื่อพระอาพาธ ส่วนใหญ่พระจะต้องลาสิกขาเพื่อออกไปรักษาตัว แต่พระชรา หรือพระที่มีพรรษานานไม่อยากสึก การมีพระคิลานุปัฎฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว) ช่วยให้การอภิบาลในหมู่สงฆ์สะดวกและง่ายขึ้น

พระเหล่านี้จะทำหน้าที่คล้ายอสม.ประจำวัด ดูแลพระอาพาธ เพราะสะดวก และสบายใจกว่า การให้อสม. หรือ พยาบาลที่ส่วนใหญ่เป็นหญิงมาดูแล เพราะอาจต้องมีการเจาะเลือด เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด

นายอินทพร กล่าวว่า พระคิลานุปัฎฐากจะได้รับการถ่ายทอดความรู้พื้นฐานสุขภาพ การตรวจร่างกายเบื้องต้น วัดอุณหภูมิ ชีพจร และการหายใจ การเช็ดตัวลดไข้ ทำแผล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยต้องผ่านการสอบทั้งแบบทฤษฎี และปฏิบัติไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80

นอนาคต ตั้งเป้าให้มีพระคิลานุปัฎฐาก อย่างน้อย 10,000 รูป เพื่อให้มีสัดส่วนเพียงพอกับพระสงฆ์ในปัจจุบัน และต่อไปในแต่ละอำเภอต้องมีกุฎิชีวาภิบาลที่พร้อมสำหรับการดูแลพระสงฆ์อาพาธ ที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

วัตรปฏิบัติของพระ ไม่สามารถเลือกฉันภัตตาหารเองได้ แต่หากพระสงฆ์มีความรู้เรื่องสุขภาพแล้ว อย่างน้อยก็ได้ระวัง ยังสามารถถ่ายความรู้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ความรู้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

การสร้างพระคิลานุปัฏฐากให้เพิ่มมากขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอภิบาลพระสงฆ์ในยามอาพาธ ตาม พระพุทธพจน์ที่ว่า  "โย ภิกขเว มํ อุปฏฐเหยย โส คิลานํ อุปฏฐเหยย - ผู้ใดปราถนาจะอุปปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"พวงเพ็ชร" เร่งทำ "Big Data" พระภิกษุสงฆ์ ดูแลสิทธิ์รักษาพยาบาล 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง