นายกฯ วิศวกรโครงสร้างฯ วิเคราะห์ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมียนมา

ภัยพิบัติ
17 พ.ย. 66
15:34
436
Logo Thai PBS
นายกฯ วิศวกรโครงสร้างฯ วิเคราะห์ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ วิศวกรโครงสร้างระบุอาคารที่แตกร้าวจากแผ่นดินไหว จ.เชียงราย ส่วนใหญ่เป็นอาคารเตี้ย-ปานกลาง เพราะพื้นเป็นดินแข็ง ส่วนที่รู้สึกได้ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นดินอ่อน จึงขยายความรุนแรงมาจากระยะไกลได้

วันนี้ (17 พ.ย.2566) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 เมื่อเช้าวันนี้ เกิดขึ้นที่ระดับความลึกประมาณ 9 กิโลเมตร ในประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งจุดที่เกิดแผ่นดินไหว มีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน

แผ่นดินไหวดังกล่าวจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง และเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้น จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงราย และเชียงใหม่

แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 6.4 เชียงราย เชียงใหม่ กทม.รับรู้แรงสั่นสะเทือน

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายถึงผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร โดยแบ่งเป็น 1.พื้นที่ในภาคเหนือ และ 2.กรุงเทพมหานคร

สำหรับจังหวัดในภาคเหนือ เนื่องจากระยะทางจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ถึง จ.เชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าห่างกันพอสมควร แต่ก็ทำให้อาคารเกิดการสั่นไหว และเกิดการแตกร้าวหรือการหลุดร่อนของผนังปูนฉาบในอาคารบางหลังได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวยังไม่รุนแรงพอ ที่จะทำให้อาคารถล่มลงมาทั้งหลังได้ ทั้งนี้อาคารในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นกลุ่มอาคารเตี้ยถึงสูงปานกลาง เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความถี่สูง และจากสภาพพื้นที่เป็นชั้นดินทรายหรือดินแข็ง จึงกระตุ้นให้อาคารกลุ่มนี้สั่นไหวได้มากกว่าอาคารสูงในบริเวณเดียวกัน

สำหรับกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.อมร ให้ข้อมูลว่า แม้ว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 900-1,000 กิโลเมตร แต่อาคารหลายแห่งก็สั่นสะเทือนได้เช่นกัน เนื่องจากสภาพชั้นดินของกรุงเทพฯ ที่เป็นดินอ่อน จึงสามารถขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากระยะไกลได้ และส่งผลกระทบต่ออาคารสูง ตั้งแต่ 5-6 ชั้นเรื่อยไปจนถึงอาคารสูงหลายสิบชั้น

เชียงราย "โรงเรียน-รพ.-สนามบิน" อพยพวุ่น “แผ่นดินไหวเมียนมา”

แต่เชื่อว่าด้วยระยะทางที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร จะไม่ส่งผลกระทบให้โครงสร้างหลักของอาคารในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้

ดร.อมร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือ และ พื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชื่นชม นร.เชียงราย แผ่นดินไหวเมียนมา หลบ-หนีถูกวิธี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง