“อบจ.ภูเก็ต” เดินหน้า รพ.สต. -สช.จับมือภาคีพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่น

ภูมิภาค
21 พ.ย. 66
16:48
232
Logo Thai PBS
“อบจ.ภูเก็ต” เดินหน้า รพ.สต. -สช.จับมือภาคีพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สช.-สวรส. จับมือภาคีลงนามพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่น ร่วมกับ อบจ.ภูเก็ต เตรียมนำร่องสร้างการมีส่วนร่วม จัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ ภายหลังรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ครบทั้งจังหวัด

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานภาคีเครือข่าย

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่

จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. โดยมีหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ร่วมเป็นพยาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)

สำหรับพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง ที่จะสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน ประกอบด้วย รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ และ รพ.สต.ราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม

นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2567 ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มาจนครบทั้งจังหวัดแล้ว รวม 21 แห่ง ซึ่งทาง อบจ. ได้มองเห็นถึงโอกาสสำคัญจากการรับถ่ายโอนในครั้งนี้อยู่ 2 ส่วน คือ 1.การแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่

2.ประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย ผ่านโครงการอยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ โดยมีโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นแกนกลาง

นายเรวัต อารีรอบ

นายเรวัต อารีรอบ

นายเรวัต อารีรอบ

นายเรวัต กล่าวว่า จากสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว ทาง อบจ.ภูเก็ต ต้องการให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับการให้บริการสุขภาพในช่วงภายหลังการเปลี่ยนผ่านของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ใน 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการให้ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนชาวภูเก็ต เพื่อช่วยลดความแออัด และลดภาระงานของโรงพยาบาลตามที่วางแผนเอาไว้

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมไม้ร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ของ จ.ภูเก็ต รวมถึงภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ที่ได้ร่วมดำเนินการศึกษา เก็บข้อมูล ระดมความคิดเห็นจากการลงพื้นที่จริง แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาจัดทำเป็นแนวนโยบายในการดูแลสุขภาพของคนภูเก็ต ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย

ด้านนายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพ มีความพยายามมานาน โดยเริ่มจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กก่อน แต่เมื่อมีข้อจำกัด ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในการถ่ายโอนมาที่ อปท. ขนาดใหญ่คือ อบจ. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพและความพร้อมดำเนินการ

นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ตนดีใจที่ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชน ซึ่งอาจเป็นต้นแบบให้กับการถ่ายโอนในจังหวัดอื่น ๆ ประสบความสำเร็จต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างแบรนด์ด้านสุขภาพให้กับ อบจ. ที่ต่อไปคนจะนึกถึงเป็นหนึ่งในภารกิจของท้องถิ่น

ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ มรภ.ภูเก็ต กล่าวว่า ทาง มรภ.ภูเก็ต เข้ามามีส่วนร่วมกับ สช. ในการศึกษากลไกความร่วมมือภายในท้องถิ่นในการอภิบาลระบบสุขภาพ ที่สามารถจัดบริการระดับปฐมภูมิได้ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ โดยจากการศึกษาในขั้นต้นพบว่าปัจจุบัน อบจ.ภูเก็ต มีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องมือในการส่งเสริมการตรวจสุขภาพประชาชน ผ่านโครงการ Phuket Health Sandbox ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Homecare, Phuket smart healthcare และ Telemedicine เป็นต้น

ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ มรภ.ภูเก็ต

ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ มรภ.ภูเก็ต

ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ มรภ.ภูเก็ต

นอกจากนี้ อบจ.ภูเก็ต ยังมีนโยบายเร่งด่วนที่จะสนับสนุน รพ.สต. ทั้งการเพิ่มบุคลากร การปรับปรุงอาคาร สถานที่ โดยจุดแข็งซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ทาง อบจ. มีอยู่ คือผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสาธารณสุขของจังหวัด ทั้งมิติของการดูแล รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู อีกทั้งมีงบประมาณในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก ตลอดจนการบริการของ รพ.สต. ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน มากไปกว่านั้นยังมีโรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ต ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตามพบว่า มีข้อจำกัดอยู่ เช่น การขาดแคลนกำลังคน ตัวชี้วัดที่ยังไม่สอดคล้องกับพื้นที่ การดำเนินงานด้านบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ยังเป็นไปในเชิงตั้งรับ รวมทั้งปัญหาของระบบส่งต่อในพื้นที่เกาะ ทางทีมศึกษาจึงมีข้อเสนอในเบื้องต้น ได้แก่ 1.ควรสรรหา บรรจุ บุคลากรตามกรอบอัตรากำลังอย่างเร่งด่วน

2.กำหนดการพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน 3.ควรมีการพัฒนาระบบการให้บริการของ รพ.สต. ให้เหมาะกับ จ.ภูเก็ต 4.พัฒนาระบบส่งต่อ

การพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่นจะทำโดยฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ โครงการศึกษาและการลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อออกแบบแนวทาง มาตรการ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ สร้างระบบสุขภาพที่มีส่วนร่วมและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ถือเป็นการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขให้กับท้องถิ่น ได้มีโอกาสในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ หรืออีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพ

ดังนั้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในการกำหนดทิศทางของระบบสุขภาพท้องถิ่นในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ อบจ. มีทิศทางการพัฒนาและการให้บริการที่ดีขึ้น

นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษ นายก อบจ.ภูเก็ต

นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษ นายก อบจ.ภูเก็ต

นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษ นายก อบจ.ภูเก็ต

นพ.บัญชา กล่าวว่า ในอนาคตระบบการแพทย์จะก้าวเข้าสู่ Lifestyle Medicine หรือการแพทย์จะเป็นเรื่องของปัจเจกมากขึ้น โดยที่ไม่ได้อยู่ในมือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จึงมาพร้อมกับโอกาสในการขับเคลื่อนไปสู่ Public Wellness Care อันเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

ซึ่งท้องถิ่นจะต้องออกแบบต่อไปว่า จะจัดบริการแบบใด เพื่อไปตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พร้อมการสร้างสุขภาวะให้กับประชาชน

กระแสด้านสุขภาพที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลก เช่น ปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ โรคมะเร็ง รวมถึงประเด็นปัญหาเด็กเกิดน้อย ส่วนเด็กที่เกิดมาก็เสี่ยงเป็นโรคเนื่องจากภาวะท้องไม่พร้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นโจทย์ของ อบจ. และภาคีในจังหวัดที่ต้องช่วยกันคิดต่อ

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต นับว่ามีประสบการณ์สำคัญในการบริหารจัดการอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ คือ ภัยพิบัติสึนามิ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นฐานทุนที่ดีในการพิสูจน์ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครต่าง ๆ และที่สำคัญคือการสนับสนุนของ อปท. ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล นั้นมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ทาง สช. จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนิน โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เพื่อค้นหาแนวทางของการทำให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นภายหลังได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มาแล้ว สามารถมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้จริง โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ท้องถิ่นมาบริหารจัดการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มาเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งทุกฝ่ายจะมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้วยกัน

ในบรรดา อบจ. กว่า 60 จังหวัดที่รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว อบจ.ภูเก็ต ถือเป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่เราเลือกขึ้นมาศึกษาในโครงการฯ ด้วยความเป็นจังหวัดที่มีแนวคิด กระบวนการทำงาน มีการศึกษาเก็บข้อมูล วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาไปพร้อมกัน โดยผลผลิตที่เราจะได้จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางด้านวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ประเด็นสำคัญคือการทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง