เช็กอาการ "โรคไอกรน" กลุ่มเสี่ยงเด็กเล็กอันตรายถึงตาย

สังคม
2 ธ.ค. 66
12:17
441
Logo Thai PBS
เช็กอาการ "โรคไอกรน" กลุ่มเสี่ยงเด็กเล็กอันตรายถึงตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "โรคไอกรน" กลุ่มเด็กเล็กมีความเสี่ยง ติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการ แนะสังเกตอาการ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง และหายใจเสี่ยงวู๊ป อาการอยู่นานถึง 6-10 สัปดาห์ ในเด็กแรกเกิดถึง 4 ปีต้องฉีดวัคซีนรวม 5 โดส

กรณีมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันราว 100 คนเป็นโรคไอกรน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจำนวนนี้พบเด็กทารกแรกเกิด 18 วันเสียชีวิต 

ข้อมูลจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย รายงานว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

สาเหตุโรคไอกรน 

โรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วนnasopharynxของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal

ไอกรน เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรงผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกรายโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มากโรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก

อ่านข่าว เตือน "ไอกรน" พบระบาด 3 จว.ชายแดนใต้-เด็ก 18 วันเสียชีวิต

ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้ หรือได้น้อยมากในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมาก และมีอัตราตายสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

ในประเทศไทย อุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงมาก เป็นผลจากการเพิ่มระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนบาดทะยัก อย่างไรก็ดียังพบโรคนี้ได้ประปรายในชนบท และพบในเด็กอายุเกิน 5 ปี มากขึ้น

ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนพบการระบาดเป็นครั้งคราวในเด็กนักเรียนชั้นประถม ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค

อาการ และอาการแสดง 3 ระยะ 

ระยะแรกเด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ

Paroxysmal stage ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน

โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุดๆ ระยะไอเป็นชุดๆนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้

ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อย ๆ ลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ ระยะของโรคทั้งหมด ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

โรคแทรกซ้อน

โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตาย ที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลม และถุงลม  

นอกจากนี้ จากการไอมากๆ ทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา มี petechiae ที่หน้าและในสมอง และระบบประสาท อาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ๆ และอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง

การวินิจฉัยโรค

อาศัยอาการทางคลินิกที่มีลักษณะอาการไอเป็นชุดๆ มีเสียงวู๊ป ร่วมกับการตรวจเลือดพบมีเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติ และมี lymphocytosis และการวินิจฉัยที่แน่นอน จึงต้องทำการเพาะเชื้อ B.pertussis จาก nasopharyngeal swab หรือดูดเอา nasopharyngeal mucus มาเพาะบน Bordet Gengau media

ส่วนใหญ่จะตรวจพบเชื้อได้ ในระยะ Catarrhal stage และในสัปดาห์แรกที่เริ่มมีอาการไอแบบ paroxysmal ภายหลังจากเริ่มมีอาการ 4 สัปดาห์ มักจะตรวจไม่พบเชื้อ

การรักษา

เนื่องจากเชื้อ B. pertussis จะมีอยู่ในลำคอของผู้ป่วยในช่วงระยะแรก  ดังนั้นถ้าให้ยาปฎิชีวนะที่ได้ผลเฉพาะคือ erythromycin ในขนาด 50 มก./กก./วันเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระยะนี้จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้

แต่ถ้าพบผู้ป่วยระยะที่มีการไอเป็นชุดๆ แล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วันเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้

การรักษาตามอาการให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป

ไอกรน มีวัคซีนฉีดในเด็ก 

ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้งนับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน โดยวัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids ให้ฉีดเข้ากล้าม

กำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โดสที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก  โดสที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรนทั้งนี้เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง