“มาดามเดียร์” ฝ่าวงล้อม สู้ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

การเมือง
4 ธ.ค. 66
15:54
739
Logo Thai PBS
“มาดามเดียร์” ฝ่าวงล้อม สู้ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้คนไทยจะชินกับการมีผู้นำเป็นผู้ชาย แต่ในรอบ 20 ปีมานี้ สังคมไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเราเห็นว่า “ผู้หญิง” เป็นผู้นำมากขึ้น ตั้งแต่หน่วยงานเล็ก ๆ ไปจนถึงองค์กรระดับชาติ และองค์กรการเมือง

อาจเป็นเพราะสัดส่วนของผู้หญิงในระดับประชากร เพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีโอกาสต่าง ๆ เท่าเทียมผู้ชาย ตั้งแต่การศึกษา การทำงานในตำแหน่งสำคัญ เคยมีข้อมูลการศึกษาพบว่า การมีผู้นำเป็นผู้หญิง ทำให้ปัญหาการทุจริตน้อยลง 

ในประเทศไทย ตั้งแต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของไทย ความแปลกในภาพลักษณ์ของผู้นำพรรคการเมืองผู้หญิง ก็เป็นเรื่องธรรมดาไป

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นอีกคนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการไทยสร้างไทย และแสดงตัวอย่างชัดเจน เมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี

หรือแม้แต่นักการเมืองหญิงอีกหลายคน ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ ๆ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เช่น คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปวีณา หงสกุล รมว.การพัฒนาสังคมฯ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ

ถ้านับจากการสืบค้นในรอบกว่า 40 ปีนี้ ประเทศไทยมีนักการเมืองหญิง เฉพาะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 50 คน ยังไม่นับรวมบรรดา ส.ส.ผู้หญิง อีกกว่า 100 คน

โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด (14 พ.ค.2566) ประเทศไทยมี ส.ส.หญิง จำนวน 81 คน จากพรรคก้าวไกล 27 คน พรรคเพื่อไทย 26 คน พรรคภูมิใจไทย 10 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 7 คน

พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรคไทยสร้างชาติ 1 คน และพรรคเพื่อไทยรวมพลัง 1 คน

ในจำนวนนี้ เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 5 คน คือ

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จากพรรคเพื่อไทย
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางศุภมาส อิสรภักดี รมว.การอุดมศึกษาฯ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม

กลับมาที่ศึกชิงชัย “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ แต่เดิมมีเพียงผู้ชาย ที่ประกาศตัวว่า จะลงแข่งในสนามนี้ เพราะนับแต่ตั้งพรรคประชาธิปัตย์มา 77 ปี หัวหน้าพรรคก็มีแต่ผู้ชายทั้ง 8 คน

นายควง อภัยวงศ์ วันที่ 6 เม.ย.2489-15 มี.ค.2511 (22 ปี)
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช วันที่ 22 เม.ย.2511-26 พ.ค.2522 (11 ปี 1 เดือน)
พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ วันที่ 26 พ.ค.2522-3 เม.ย.2525 (3 ปี)
นายพิชัย รัตตกุล วันที่ 3 เม.ย.2525-26 ม.ค.2534 (8 ปี 10 เดือน)
นายชวน หลีกภัย วันที่ 26 ม.ค.2534-20 เม.ย.2546 (12 ปี 4 เดือน)
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน วันที่ 20 เม.ย.2546-8 ก.พ.2548 (1 ปี 11 เดือน)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 5 มี.ค.2548-24 มี.ค.2562 (14 ปี 19 วัน)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ วันที่ 15 พ.ค.2562-14 พ.ค.2566 (4 ปี)

ทำให้มีผู้เสนอตัวจะเข้ามาเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” คนที่ 9 เพียงคนเดียว คือ นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทายาท ไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมว.แรงงาน และอดีต ส.ส.พิจิตร หลายสมัย

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลับมีชื่อ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่เพิ่งลาออกจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชารัฐ มาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศเป็นแคนดิเดตลงชิงหัวหน้าพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม ถือเป็นครั้งแรก แม้ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์จะมีสส.ผู้หญิงหลายคน และมีเพียง คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช เท่านั้นที่มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคฯ

ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่องค์ประชุมล่ม และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังมีการนัดหมายครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566 แต่ปรากฏว่าเป็นอันล้มเหลว เนื่องจากมีการล็อบบี้ให้สมาชิกของแต่ละขั้ว ไม่เข้าร่วมประชุม

ครั้งต่อมา วันที่ 6 ส.ค.2566 การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสมาชิกในที่ประชุมไม่ครบ เป็นอันยกเลิกไป และนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 9 ธ.ค.

ล่าสุดวันหยุดที่ผ่านมา 3 ธ.ค.2566 “นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หัวข้อ “เรื่องวุ่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ภาค 2” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกภูมิภาค จำนวน 1,310 ตัวอย่าง

โดยมีการสอบถามหลายคำถามที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ
คำถามที่ว่า “บุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป”
กลุ่มเป้าหมายตอบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 28.32 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ และไม่สนใจ
อันดับ 2 ร้อยละ 27.10 ระบุว่า เป็น วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์)
อันดับ 3 ร้อยละ 20.46 ระบุว่า เป็น เฉลิมชัย ศรีอ่อน
อันดับ 4 ร้อยละ 9.39 ระบุว่า เป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อันดับ 5 ร้อยละ 7.94 ระบุว่า เป็น นราพัฒน์ แก้วทอง
อันดับ 6 ร้อยละ 6.03 ระบุว่า เป็น ชวน หลีกภัย

ร้อยละ 0.76 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ บัญญัติ บรรทัดฐาน

ที่น่าสนใจ นั่นเพราะ หากดูไทม์ไลน์ย้อนหลัง “มาดามเดียร์” ประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ก่อนจะเข้ามาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และอยู่ในพรรคเพียง 1 ปี 4 เดือน

และเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 หรือเมื่อ 4 วันที่แล้ว ว่าจะลงชิงชัยในตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคคนที่ 9” ซึ่งถ้าเป็นไปตามเสียงวงใน ครั้งนี้คงเป็นครั้งแรกที่ “พรรคประชาธิปัตย์” จะมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองผู้หญิง ใน พ.ศ. ปัจจุบัน หากมาดามเดียร์สามารถฝ่าวงล้อมไปได้

เพราะไม่ได้มีเพียงข้อบังคับพรรคหลายข้อ ที่มาดามเดียร์ไม่เข้าเกณฑ์แม้แต่ข้อเดียว แต่ครานี้คาดว่าจะเกิดจาก“กำลังภายใน” เพราะจะต้องมีเสียงโหวตสนับสนุนมากถึง 70-30 ส่วน"มาดามเดียร์"จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ คงไม่ต้องรอปาฏิหาริย์ เพราะคำตอบมีอยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง