กินสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยง "ไข้หูดับ" ป่วยแล้ว 548 คน เสียชีวิต 26 คน

สังคม
6 ธ.ค. 66
07:58
3,177
Logo Thai PBS
กินสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยง "ไข้หูดับ" ป่วยแล้ว 548 คน เสียชีวิต 26 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
11 เดือน ป่วย "โรคไข้หูดับ" แล้วกว่า 500 คน เสียชีวิต 26 คน ในเขตสุขภาพที่ 9 ป่วยแล้ว 130 คน เตือนไม่กินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ๆ อาหารปิ้งย่างไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูแล้วคีบเข้าปาก พร้อมเช็กอาการเป็นอย่างไร

วันนี้ (6 ธ.ค.2566) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับทั้งจากการกินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ และดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รวมไปถึงพ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ ๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ 

11 เดือน ป่วย "โรคไข้หูดับ" แล้วกว่า 500 คน เสียชีวิต 26 คน

สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 พ.ย.2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 548 คน เสียชีวิต 26 คน แบ่งเป็น ที่ จ.เชียงใหม่ 1 คน จ.น่าน 1 คน จ.สุโขทัย 1 คน จ.ตาก 2 คน จ.อุตรดิตถ์ 2 คน จ.กำแพงเพชร 1 คน จ.พิจิตร 1 คน จ.อุทัยธานี 2 คน จ.นครปฐม 2 คน จ.สมุทรสาคร 1 คน จ.มหาสารคาม 3 คน จ.หนองคาย 2 คน จ.นครราชสีมา 4 คน จ.ชัยภูมิ 1 คน จ.บุรีรัมย์ 1 คน และ จ.สงขลา 1 คน

ในเขตสุขภาพที่ 9 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 พ.ย.66) ยอดผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 130 คน เสียชีวิต 6 คน (นครราชสีมา 4 คน ชัยภูมิ บุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน) 

ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1.จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 95 คน 2.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 14 คน 3.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 14 คน และ 4.จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 7 คน โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ รับจ้าง ร้อยละ 32.31 รองลงมา คือ เกษตร ร้อยละ 31.54 และงานบ้าน ร้อยละ 13.85 ตามลำดับ

อย่ากินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ รวมไปถึงใช้วิธีบีบมะนาวเพื่อให้หมูสุกรวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบแล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้วอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับจนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้

กินหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยง "โรคไข้หูดับ"

นพ.ทวีชัย กล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อ "สเตรปโตคอคคัส ซูอิส"  (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ

นอกจากนี้โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด

5 ข้อ กินถูกวิธี ยึด "สุก ร้อน สะอาด"

ขณะที่ นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ได้รีวิวการรับประทานอาหารดิบ และมีพฤติกรรมการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ มีผู้ติดตามรับชมจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรืออยากลองทำตาม ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้

  • รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที
  • อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด"
  • ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
  • เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู
  • ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

อ่านข่าวอื่น ๆ

ส่องดาวที่ลาลับ คนไทย-ต่างประเทศ ปี 2566

สั่งย้าย หน.อุทยานฯ หาดเจ้าไหม สอบปมไม่เก็บค่าชมถ้ำมรกต

สภาพอากาศวันนี้ ไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง-ลมแรง 7 จังหวัดใต้ ฝนตกหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง