"หมอแท้จริง" ร้องขอกม.เอาผิดร้านเหล้า หากปล่อยคนเมาแล้วขับ

สังคม
11 ธ.ค. 66
15:07
456
Logo Thai PBS
"หมอแท้จริง" ร้องขอกม.เอาผิดร้านเหล้า หากปล่อยคนเมาแล้วขับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มูลนิธิเมาไม่ขับ เรียกร้องความชัดเจนทางกฎหมาย ยังรัฐเดินหน้าเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ย้ำต้องเอาร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย หากมีอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต

วันนี้ (11 ธ.ค.2566) นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่า ความชัดเจนด้านนโยบายและเศรษฐกิจมีจริง แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุม ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบออกมานั้น เช่น การตรวจวัดระดับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้าน

การให้ร้านจัดที่พักคอย จนกว่าผู้นั้นจะสร่างเมา ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือจากสถานบริการ แต่ไม่มีการออกกฎหมายใด ๆ เพราะถ้าเพียงขอความร่วมมือเช่นนี้ ไม่ต้องรอให้เปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ขอความร่วมมือได้เช่นกัน

นพ.แท้จริงกล่าวว่า ตนเคยเรียกร้องถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ใน 3 ข้อ คือ 1.การออกกฎหมายให้มีการเอาผิดกับสถานบริการที่ปล่อยให้มีผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมา ออกมาจากร้านแล้วเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เหมือนกันธุรกิจต่าง ๆ ที่จะต้องมีการกำจัดมลพิษเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชนคนอื่น ๆ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียก่อน

2.เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมีผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต จะต้องมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้น

3.ทำให้เห็นถึงการใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อให้คนเห็นว่าเมื่อเมาแล้วขับ จะมีคุกรออยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เพียงโทษจำคุก 10 ปี หากรับสารภาพโทษลดลงกึ่งหนึ่ง แล้วสุดท้ายก็ลดเหลือเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ทำให้คนรู้สึกไม่กลัวต่อการกระทำความผิดในเรื่องนี้

นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า บทบาทของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจไม่ต้องคัดค้าน หรือ เชียร์ให้เปิดสถานบันเทิง แต่ต้องมุ่งหาทางควบคุม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้ได้ โดยเฉพาะการออกเป็นกฎหมายไม่ใช่เพียงขอความร่วมมือจากสถานบริการ

ดังนั้นจะต้องมีกฎหมายให้เข้มข้น กรณีหากมีผู้ที่มึนเมาแล้วสร้างปัญหาให้กับสังคม จะต้องสืบย้อนกลับไปเอาผิดกับร้านนั้น ๆ ตอนนี้อาจจะออกกฎหมายไม่ทัน แต่ก็สามารถเริ่มศึกษาเรื่องนี้ในการนำร่อง 4 จังหวัดนี้ได้ แล้วเอาผลการศึกษามาดูกันเลยว่าเมื่อขยายเวลาแล้วมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

ส่วนหลังวันที่ 15 ธ.ค. คาดว่ามีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นหรือไม่นั้น นพ.แท้จริงกล่าวว่า ประเมินสถานการณ์ไม่ได้เลย เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ดังนั้น จะไม่สามารถรู้ได้ว่าจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหน เว้นแต่จะมีการตรวจทุกเคสที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องใช้กฎหมายออกมาบังคับใช้ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง