ดันปลูก "กาแฟกัลยาฯ" ทางออกแก้ปัญหา "หมอกควัน"

ภูมิภาค
13 ธ.ค. 66
11:35
308
Logo Thai PBS
ดันปลูก "กาแฟกัลยาฯ" ทางออกแก้ปัญหา "หมอกควัน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วิกฤต PM 2.5 ที่ผ่านมา ทำให้เชียงใหม่ทั้งจังหวัดต้องรับเป้าหมายการลดจุดความร้อน (Hot Spot) ที่เกิดจากการเผาไร่ เผาป่า ลงให้ได้ 50% ในปีหน้า เฉพาะ อ.กัลยาณิวัฒนา มีจุดความร้อนในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา 182 จุด แม้ว่าจะเป็นอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 22 อำเภอ ก็ต้องรับเป้าหมายนี้เช่นเดียวกัน

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่รับมา ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ระดมข้อมูลและวิธีการต่างๆ ที่ได้ทำกันมา เช่น การขายฟางข้าวให้กับชาวไร่กระเทียมที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน การนำเปลือกข้าวโพดที่เหลือจากการสีไปเลี้ยงวัวทั้งด้วยการให้เปล่าและการขาย แม้ว่าดีมานด์และซัพพลายดังกล่าวที่มาเจอกันจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรได้ดี แต่ก็ยังเป็นการจัดการที่ปลายทาง

อ่านข่าว : ปี 67 ตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อน "อ.กัลยาณิวัฒนา" ให้ได้ 50%

ตอซังข้าวและข้าวโพดที่ยังเหลืออยู่ในแปลงปลูกก็ยังคงต้องการการกำจัด แม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์ไม่เผา แต่ใช้วิธีอื่นๆ เช่น การปล่อยวัวเข้าไปกิน และการตัดสางนำไปทำปุ๋ย ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้น้อยเพราะต้องใช้แรงงาน รวมทั้งจำนวนวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงก็ไม่สามารถกินเศษวัสดุเหล่านี้ได้หมด การเผาเพื่อสางพื้นที่จึงยังเกิดขึ้น แม้ว่าจะควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามเข้าผืนป่าด้วยการทำแนวกันไฟก็ตาม

การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากพืชไร่ เป็นพืชชนิดอื่นที่ไม่ต้องสางพื้นที่ประจำปี น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่หลายๆ พื้นที่พยายามดำเนินการอยู่ในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา

นายธนภัทร รัตนสมัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายงานบริหารการปกครอง เห็นว่า กาแฟ น่าจะเป็นทางออกที่ดีของที่นี่ เนื่องจากกาแฟสามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือไม้อื่นได้ ไม่ต้องสางพื้นที่ทุกปี และให้ผลผลิตได้ในระยะยาวกว่าพืชไร่

นายธนภัทร บอกอีกว่า กาแฟที่นี่เป็นกาแฟที่มีคุณภาพดี เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูงและสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม หลายปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในพื้นที่ได้นำผลผลิตไปประกวดแข่งขันทั้งในระดับประเทศ เช่น เวทีสมาคมกาแฟพิเศษไทย และเวทีระดับโลก เช่น เวที COE หรือ Cup of Excellence, เวที CQI หรือ Coffee Quality Institute และได้รับรางวัลจากเวทีเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลการบริโภคกาแฟในประเทศ พบว่า มีการขยายตัวของการดื่มกาแฟมากขึ้นจาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการดื่มกาแฟทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระบุว่า ไทยบริโภคกาแฟในประเทศประมาณ 70,000 ตันต่อปี แต่ผลิตได้เองเพียง 10,000 ตันต่อปีเท่านั้น ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ตัวเลขเหล่านี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรพื้นที่สูงของไทย แต่ข้อมูลการปลูกกาแฟของ อ.กัลยาณิวัฒนา กลับไม่เป็นเช่นนั้น

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า อ.กัลยาณิวัฒนา มีผลผลิตกาแฟเพียง 1,010 ตันเท่านั้น ตารางนี้ยังทำให้เห็นการใช้พื้นที่การเกษตรที่ชัดจนขึ้นว่าอันดับ 1 คือข้าวไร่ ที่ใช้พื้นที่ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของที่นี่ รองลงมาเป็นข้าวโพดมากกว่า 9,700 ไร่ ส่วนกาแฟมีพื้นที่ปลูกเพียง 1,749 ไร่เท่านั้น

และตารางนี้อาจสะท้อนถึงความคุ้นเคยในวิถีเกษตรแบบเดิมๆ ได้ด้วย เพราะจะเห็นว่ามีถึง 829 ครัวเรือนที่ยังคงปลูกข้าวโพด ขณะที่ผลกำไรจากข้าวโพดอยู่ที่ 5-7 บาทต่อไร่เท่านั้น แต่มีเพียง 410 ครัวเรือนเท่านั้นที่ปลูกกาแฟ ทั้งๆ ที่กาแฟมีผลกำไรอยู่ที่ 20-28 บาทต่อไร่

อ่านข่าว : "Lica Coffee" ลานตากกาแฟหนึ่งเดียวใน ต.บ้านแม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา

เมื่อหันไปดูวิถีชีวิตปกาเกอะญอ การปลูกข้าวไร่น่าจะเป็นความจำเป็นเพราะเป็นการปลูกเพื่อบริโภคเป็นส่วนมาก การเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไร่คงไม่สอดคล้องกับวิถีดังกล่าว แต่ข้าวโพดอาจจะมีสถานะเป็นเพียงความคุ้นเคย ผู้นำชาวบ้านที่นั่นก็ยืนยันเช่นนี้

ดังนั้นหาก อ.กัลยาณิวัฒนา จะสามารถพลิกอันดับการปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวโพดได้ ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการลดจุดความร้อนอย่างยั่งยืนแบบ win-win เพราะนอกจากจะลดการเผาได้แล้ว ชาวบ้านยังได้ตลาดใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่าข้าวโพดด้วย รวมทั้งการใช้สารเคมีที่จะส่งผลต่อน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นต้นน้ำปิงก็จะลดน้อยลงตามมา

ข้อมูลอาจจะทำให้เห็นทางออกได้ง่าย แต่วิธีที่จะพลิกแผ่นดินกัลยานิวัฒนาคงไม่ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ เพราะแม้ชาวบ้านจะบอกว่า พวกเขารู้จักและดื่มกาแฟมามากกว่า 70 ปีแล้ว โดยเป็นการปลูกไว้กินเองตามรั้วบ้าน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พวกเขาดื่มเครื่องดื่มที่มีกลิ่นและรสชาติคุณภาพระดับโลกมานานแล้ว แต่ทำไมการปลูกขายกลับไม่ขยายตัว

นายธนภัทร รัตนสมัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายงานบริหารการปกครอง อ.กัลยาณิวัฒนา

นายธนภัทร รัตนสมัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายงานบริหารการปกครอง อ.กัลยาณิวัฒนา

นายธนภัทร รัตนสมัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายงานบริหารการปกครอง อ.กัลยาณิวัฒนา

นายธนภัทรตอบสั้นๆ ว่า พวกเขาไม่รู้ คือ ไม่รู้ว่าพวกเขามีของดีอยู่ในท้องถิ่น ไม่รู้ความต้องการของตลาด และไม่รู้ว่าผลตอบแทนดีกว่าข้าวโพด

อย่างไรก็ตามในฐานะปลัดอำเภอที่คลุกคลีกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด บอกว่า พวกเขาน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก หากมีการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านผู้นำหมู่บ้านที่พวกเขาให้ความเชื่อถือ ขณะนี้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่มีองค์ความรู้เรื่องกาแฟกำลังรณรงค์ให้เกิดความรับรู้ในด้านมูลค่าของตลาดกาแฟ โดยมีการจัดงาน “สวัสดีกัลยากาแฟ” เป็นงานประจำปีของอำเภอ โดยในปี 2567 จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่ป่าสนวัดจันทร์ (ออป.) ในวันที่ 19-20 ม.ค.

แต่ปลัดอำเภอคนเดิมก็บอกว่า หัวใจสำคัญยังคงอยู่ที่ระยะเวลาและวิธีการในการปรับเปลี่ยน เพราะทุกครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นวงรอบประจำปี เช่น ลูกเปิดเทอม ในขณะที่กาแฟต้องใช้เวลาปลูกถึง 3 ปี กว่าจะให้ผลผลิต

ดังนั้น การประคับประคองในระยะการปรับเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่น ไม่เช่นนั้นข้าวโพดซึ่งให้เงินได้เป็นประจำของทุกช่วงปีก็จะยังครองพื้นที่การปลูกจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงการเผาสางไร่รายปีและ PM 2.5 ก็ยังคงเกิดจากแผ่นดินกัลยาณิวัฒนาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เที่ยว "กัลยาณิวัฒนา" อำเภอลำดับที่ 25 ของเชียงใหม่ 878 ของไทย

ปันน้ำใจ ระดมทุน-สร้างอาชีพ ช่วยผู้ป่วยยากไร้ อ.กัลยาณิวัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง