SLE พราก "โจว ไห่ เม่ย" เจ้าของบทบาท "จิวจี้เยียก" ดาบมังกรหยก ลับฟ้า

Logo Thai PBS
SLE พราก "โจว ไห่ เม่ย" เจ้าของบทบาท "จิวจี้เยียก" ดาบมังกรหยก ลับฟ้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วงการบันเทิงฮ่องกงสูญเสียซูเปอร์สตาร์สาววัย 57 ปี "โจว ไห่ เม่ย" เสียชีวิตด้วยโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตนเองหลังต่อสู้นานหลายปี รู้จัก SLE โรคเรื้อรังที่ไม่มีทางรักษา พบในประชากรเอเชีย 1 ใน 1,000 คน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการเสียชีวิตของดาราสาวฮ่องกง "โจว ไห่ เม่ย" เจ้าของบทบาท "จิวจี้เยียก" จากนวนิยายชื่อดัง "ดาบมังกรหยก" เวอร์ชันไต้หวัน และการกลับมารับบท "แม่ชีมิกจ้อ" เจ้าสำนักง้อไบ๊ อาจารย์สาวของจิวจี้เยียก ในดาบมังกรหยก เวอร์ชันไต้หวัน ปี 2562 ที่ผ่านมา 

หลังจากการรักษาอาการ Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือ ในประเทศไทยเรียก "โรคพุ่มพวง" โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มายาวนานหลายปี ต่อมาสตูดิโอของ โจว ไห่ เม่ย ได้ประกาศให้แฟนคลับของเธอได้ทราบถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของดาวค้างฟ้าวัย 57 ปี ช่วงค่ำวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

โจว เสียชีวิตหลังจากการรักษาอาการป่วย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ขอให้บนสวรรค์ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และขอให้เราได้พบกันอีก

"ชารอน สโตน" แห่งเอเชีย

โจว ไห่ เม่ย หรือ แคธี โจว (Kathy Chow) เป็นนักแสดงหญิงที่ติดอันดับ Top 10 ที่มีงานละครมากที่สุดในฮ่องกง ติดต่อกันถึง 3 ปี ยังเคยได้รับการโหวตให้เป็นหญิงสาวในฝันของชายหนุ่มในไต้หวันอีกด้วย ช่วงกลางยุค 90 จากการเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นแนวเซ็กซี่ ทำให้เธอมีฉายาให้ว่า "ชารอน สโตน แห่งเอเชีย" และกลายเป็นฉายาที่ใช้เรียกแทนตัวเธอตลอดมา

โจว เพิ่งได้ฉลองวันเกิดครบรอบ 57 ปีของเธอเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เธอเกิดในครอบครัวฐานะดีที่ฮ่องกง เข้าสู่เส้นทางบันเทิง จากโรงเรียนการแสดงของช่อง TVB เริ่มต้นชิมลางวงการบันเทิงครั้งแรกด้วยบท "หยางจิ่วเม่ย" น้องเล็กแห่งตระกูลหยาง เป็นบทตัวประกอบเล็กๆ ออกไม่กี่ฉาก ในยุคละครฮ่องกงสมัยเก่า เรื่องขุนศึกตระกูลหยาง 

แต่ผลงานที่ โจว ไห่ เม่ย ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฮ่องกง คือเรื่องคู่แค้นสายโลหิต กับบทบาท อาหัว แต่ผลงานละครที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเธอในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ คือเรื่องดาบมังกรหยก ฉบับไต้หวัน เวอร์ชัน พ.ศ.2537 กับบทบาท "จิวจี้เยียก" 

ต่อมาใน ปี 2562 เธอกลับมาสร้างปรากฎการณ์อีกครั้ง ในบทบาท "แม่ชีมิกจ้อ" ในละครรีเมกเรื่องดาบมังกรหยก ซึ่งบทบาทเป็นเจ้าสำนักง้อไบ๊ผู้รักความเป็นธรรม ทว่าเหี้ยมโหดไร้ปรานี 

โรค SLE หรือ โรคพุ่มพวง

รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ เผย โรค SLE เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย และอวัยวะที่เกิดการอักเสบจะได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีการอักเสบในแต่ละอวัยวะแตกต่างและมีอาการ แสดงแตกต่างกัน แต่มักเกิดการอักเสบของหลายอวัยวะร่วมกัน แนะผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรค SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus เป็นโรคภูมิคุ้มกันทําลายตนเองหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง นับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย และมีอัตราการเสียชีวิตตํ่า โดยพบเพียงร้อยละ 0.1 (0.014 – 0.122) หรือคิดเป็นจํานวนผู้ป่วยในประเทศไทยราว 50,000 – 700,000 คน ส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงช่วงอายุราว 20 – 40 ปี

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แสงแดด การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย การได้วัคซีน การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวต่อว่า อาการที่พบได้บ่อยของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ตํ่า ปวดข้อ ปวดเมื่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นํ้าหนักลด ผมร่วง มีผื่นที่หน้า ที่แก้ม คล้ายปีกผีเสื้อ ผื่นตามตัว แขน ขา ผื่นแพ้แสง แผลในปาก บวม ซีด มีจํ้าเลือดหรือจุดแดงคล้ายยุงกัดตามแขนขา โดยมักมีอาการมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการดังกล่าวของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาอวัยวะที่มีการอักเสบ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางภูมิคุ้มกัน (ANA, Anti-dsDNA, Anti Sm) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากสมาคมแพทย์โรคข้อของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

นพ.สูงชัย อังธารารักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้างานโรคข้อและภูมิแพ้ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรค SLE จะต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยการใช้ยา ประกอบด้วย ยาต้านมาลาเรีย ร่วมกับยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิอื่นๆ ซึ่งขนาดและวิธีการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค รวมทั้งผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ได้แก่ การดูแลความสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาด ระวังการติดเชื้อโรค รับประทานยาให้ตรง และ ห้ามหยุดยาเอง หลีกเลี่ยงยาสมุนไพรหรือยาชุด อาหารเสริมนอกระบบ หลีกเลี่ยงแสงแดด ลดหรือหลีกเลี่ยงความเครียด การคุมกําเนิด หากจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล

สำหรับศิลปิน-นักแสดงชาวไทยที่เคยป่วยด้วยโรค SLE ได้แก่ ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายหลังจากเสียชีวิตคนจึงเรียกติดปากโรค SLE เป็น "โรคพุ่มพวง", นก รัชนก แสง-ชูโต, โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เป็นต้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง