เปิดตัว "P218" ยาต้านมาลาเรียตัวแรกของไทย

Logo Thai PBS
เปิดตัว "P218" ยาต้านมาลาเรียตัวแรกของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อว.แถลงความคืบหน้าพัฒนา " P218" ยาต้านมาลาเรียดื้อยาตัวแรกของไทย ที่มาจากทีมวิจัยไทยอย่างครบวงจร อยู่ระหว่างทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง และหาปริมาณที่เหมาะสม คาด 2 ปีขึ้นทะเบียนยาสำเร็จ

วันนี้ (13 ธ.ค.2566) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงเปิดตัวยา “P218” ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรียตัวแรก ที่มาจากการค้นคิด และพัฒนาของคนไทยแบบครบวงจร และใช้ได้ผลต่อเชื้อที่ดื้อยาที่เรียกว่า “แอนตี้โฟเลต” 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมาลาเรียในประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า โรคมาลาเรียยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก คร่าชีวิตคนปีละกว่า 600,000 คน และไทยก็ประสบปัญหานี้ การสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง การรักษายุ่งยากเนื่องจากเชื้อมักจะดื้อยา 

ทั้งนี้นักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศเดินหน้าศึกษาวิจัยเรื่องยารักษามาลาเรียมากว่า 30 ปี 

โดยทีมวิจัยวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนด์ และชีววิทยาโมเลกุล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ ไบโอเทค ศึกษาวิจัยโครงสร้างของโปรตีนเป้าหมายที่มีชื่อเรียกว่า DHFR

ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนที่ทำให้เกิดการดื้อยา จากนั้นร่วมกับนักวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก จนออกมาเป็นผลงานวิจัยยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2556 ซึ่งเป็นสารต้านมาลาเรียตัวแรกที่ออกแบบและสังเคราะห์ขึ้นเองโดยนักวิจัยไทย

อ่านข่าว เปิด 3 กลไก แปลงร่างจาก ”ยุง” เป็น ”ซูเปอร์ยุง”

P218 อยู่ในขั้นตอนวิจัย และพัฒนาทดสอบความเป็นพิษของในสัตว์ทดลอง ทดสอบประสิทธิภาพของยา P218 ในระดับคลินิก เพื่อการทำนายขนาดของยา P218 ที่เหมาะสมในการรักษาโรคมาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ม.มหิดล ร่วมกับทีมนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ในการพัฒนายา P218 มาเป็นระยะๆ และได้ทิศทางที่ชัดเจนในการผลักดันยา P218 ให้เข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นตามเกณฑ์การขึ้นทะเบียนยาของไทยและระดับนานาชาติ รวมถึงได้เริ่มประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

คาดการณ์จะใช้เวลาวิจัยเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 2 ปี จะสามารถเข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนยา P218 ได้เป็นผลสำเร็จ

อ่านข่าว

ยากันยุงเถื่อน เกลื่อนออนไลน์ "ยุงดื้อยา"ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง

สหรัฐฯ พบผู้ป่วยมาลาเรียครั้งแรกในรอบ 20 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง