สส.ก้าวไกลจี้ผู้บริหาร ศธ. เร่งแก้วิกฤติการศึกษาไทย

สังคม
19 ธ.ค. 66
14:49
384
Logo Thai PBS
สส.ก้าวไกลจี้ผู้บริหาร ศธ. เร่งแก้วิกฤติการศึกษาไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ปารมี” จี้ผู้บริหาร ก.ศึกษาธิการ กล้าคิดกล้าทำ เร่งแก้วิกฤติการศึกษาไทย หยุดแก้ไขแบบไม่แก้ไข เลิกทำแบบขอไปทีเพราะแค่อยากลดกระแส ชี้คะแนน PISA ต่ำสุดรอบ 20 ปี สะท้อนหลักสูตรแกนกลางมีปัญหา แนะรัฐทบทวน-ปัดฝุ่นดึงหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้

วันที่ 18 ธ.ค.2566 น.ส.ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch นโยบายการศึกษา หัวข้อ “วิกฤติการศึกษาไทย แก้ไขแบบไม่แก้ไข” ว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาหลายประเด็นในโลกออนไลน์ แต่ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ มักออกมาพูดถึงปัญหาแบบขอไปที เพียงเพื่อลดกระแส เหมือนแก้ไขแต่ไม่แก้ไข

ส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด ตนจึงแถลงเพื่อจับตาการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา ทั้งหมด 3 ประเด็น

ประเด็นแรก กรณีความผิดพลาดของข้อสอบวิชาเฉพาะ TPAT1 การวัดความถนัดทางวิชาชีพแพทย์ ในส่วนที่วัดเชาวน์ปัญญา ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความคล้ายข้อสอบ BMAT (BioMedical Admissions Test) ที่ออกโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เพียงแปลเป็นภาษาไทยแต่ไม่มีการเปลี่ยนโจทย์หรือตัวเลือก

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการเปิดเผยข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็น TGAT หรือ TPAT หรือ A-level จึงเปิดช่องให้เกิดความไม่โปร่งใส หลังจากนักเรียนที่เข้าสอบมีการจำคำถามและคำตอบ เพื่อแชร์ข้อสอบร่วมกัน พบว่า ข้อสอบที่จำมาตรงกับข้อสอบ BMAT ประมาณ 8-11 ข้อ จาก 45 ข้อ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ โดยข้อสอบ TPAT1 มีค่าธรรมเนียมสอบประมาณคนละ 800 บาท มีผู้เข้าสอบราว 60,000 คน

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ในฐานะผู้ออกข้อสอบได้เงินประมาณ 48 ล้านบาท แต่กลับออกข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน ตนจึงขอเรียกร้องให้ กสพท. ตอบคำถามประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนและผู้ปกครอง

น.ส.ปารมีกล่าวว่า ประเด็นต่อมา คือปัญหาคะแนน PISA ที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อลองดูข้อสอบของ PISA เทียบกับหลักสูตรการเรียนการสอนและตำราเรียนต่าง ๆ ของเด็กไทย จะพบว่าไม่ตรงกัน สะท้อนว่าหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันมีปัญหา 8 กลุ่มสาระที่นักเรียนไทยต้องเรียน ไม่ตอบโจทย์การศึกษาในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน กระทั่งไม่ช่วยในการทำข้อสอบ PISA

ทั้งที่เด็กไทยเรียนหนัก 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่เมื่อดูคะแนนสอบต่าง ๆ จะพบว่า คะแนนตกต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่ท่าทีของกระทรวงศึกษาธิการ มักออกมารับลูก สั่งการให้ไปดูตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่เคยแก้ไขลงลึกไปถึงต้นตอ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันส่งเสียงไปยังผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าหลักสูตรที่เน้นท่องจำ ไม่ต่อยอดไปสู่การคิดวิเคราะห์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยน ทางออกที่พรรคก้าวไกลและนักวิชาการจำนวนมากเห็นตรงกัน คือการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมร่างไว้แล้ว แต่เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมากลับมีการระงับ จึงขอให้ผู้บริหารกระทรวงทบทวนหลักสูตรแกนกลาง ปัดฝุ่นหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้าน พร้อมกับ RUN (Reskill - Upskill - New skill) หรือการฟื้นฟูทักษะ เพิ่มทักษะ ใส่ทักษะใหม่ให้คุณครู เพื่อให้สามารถใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า คะแนน PISA ยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงมากของการศึกษาไทย เพราะเมื่อจำแนกคะแนนตามกลุ่มโรงเรียน จะพบว่าโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และโรงเรียนสาธิต ซึ่งผู้มีโอกาสเข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในขณะที่โรงเรียนกลุ่มอื่นมีคะแนนต่ำกว่า จึงเห็นได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ต้องมาพร้อมกับปากท้องอิ่ม การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงต้องแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่กัน แยกกันไม่ได้

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ OECD มีการสอบถามนักเรียนผู้เข้าสอบ PISA ถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผลออกมาว่าเด็กไทยจำนวนมากยังอดมื้อกินมื้อ เช่น นักเรียน 13.5 % อดอย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์ นักเรียน 5.8% อดข้าวทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อสัปดาห์

ประเด็นสุดท้าย คือความท้าทายในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ที่มักมีปัญหาด้านงบประมาณและภาระงานของครู ตั้งแต่งานสอน งานเอกสาร จนถึงงานนอนเวรที่ดึงครูออกจากห้องเรียน เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้หาก รมว.ศึกษาธิการ ค้นหาว่าอะไรเป็นภาระนอกเหนืองานสอน และลงนามในประกาศหรือระเบียบของกระทรวง

พร้อมกันนี้ น.ส.ปารมีเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งมาจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่มี น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เป็นรองประธาน และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นรองประธานร่วม ข้อเสนอนี้ผ่านมา 3 ปี แต่ผู้บริหารกระทรวงยังไม่ขยับเอาไปใช้จริง

1.จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กให้แตกต่างไปจากปัจจุบันที่ใช้ “เงินอุดหนุนรายหัว” เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนจำนวนน้อย โดยอาจใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน (Fundamental School Quality Level: FSQL) ตามระบบของธนาคารโลกซึ่งเคยใช้ที่เวียดนาม เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนทันที

2.เพิ่มแรงจูงใจให้ครู เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพ การประเมินวิทยฐานะที่ต้องแตกต่างออกไป
3.จัดครูธุรการและภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน และเกลี่ยอัตรากำลังครูให้เหมาะสม
4.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้ยืดหยุ่น เพราะนักโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนมีความพร้อมแตกต่างกัน

5.จัดหาสื่อการเรียนที่เหมาะสมและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน
6.ปรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมสร้างระบบรับผิดชอบของ ผอ. เช่น มีการประกาศสู่ชุมชนรอบข้างว่าจะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กภายในกี่ปี มีระบบตรวจสอบว่า ผอ. ทำได้จริงตามที่สัญญามากน้อยแค่ไหน
7.แก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก
8.ปรับระบบการผลิตและการพัฒนาครู

9.ให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
10.ถ้าจำเป็นต้องยุบหรือควบรวมโรงเรียน รัฐต้องจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้นักเรียน เช่น รถรับส่ง คูปองค่าเดินทาง

ทั้งนี้ ต้องมีการสอบถามความเห็นจากชุมชน ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของชุมชน (Small Protected Schools) เช่น อยู่บนเกาะหรือบนภูเขา อาจจำเป็นต้องมีอยู่ แต่รัฐต้องเสริมทรัพยากรเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอวิงวอนให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการมีความกล้าคิดกล้าทำ ออกนอกกรอบเดิม ๆ และขอให้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือนักเรียนไทย ช่วยเหลือครูไทย ช่วยเหลือผู้ปกครอง เราจึงจะแก้วิกฤตการศึกษานี้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง