ไขความลับ "มูลเสือโคร่ง" ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่กินอะไร

สิ่งแวดล้อม
26 ธ.ค. 66
12:49
11,701
Logo Thai PBS
ไขความลับ "มูลเสือโคร่ง" ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่กินอะไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดภาพน่ารักบรรดาสัตว์ป่าของผืนป่า "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ถูกแอบส่องขึ้นโซเชียล พร้อมไขความลับ "มูลเสือโคร่ง" ที่อาศัยในป่าแห่งนี้พบเหยื่อหลักคือ กวางป่า 33.3% ส่วน "กระจง"เป็นอาหารว่าง

เนื่องใน 26 ธ.ค.ของทุกปีเป็น "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ นำภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ป่าบางชนิดที่อาศัยอยู่ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มาเผยแพร่

โดยคลิปความยาว 3 นาทีชวนให้อมยิ้ม เพราะสัตว์บางตัวก็เหมือนจะไม่รู้ว่าโดนแอบถ่ายโดยนุดวิจัย ทำให้เห็นพฤติกรรมน่ารักๆ ซึ่งมีเสือโคร่งหลายตัวที่เดินผ่านกล้องไปมา แต่บางตัวก็แอบสเปรย์ฉี่เป็นละอองฝอยกับต้นไม้เป็นการแสดงอาณาเขต

ส่วนเจ้าหมีควาย ก็น่าเอ็นดู สงสัยจะคันหลัง ฟินจัดเมื่อเอาหลังไปถูไถกับต้นไม้โดยไม่รู้ว่ามีกล้องดักถ่ายติดไว้อีกตัว เช่นเดียวกับครอบครัวหมาจิ้งจอก เดินเรียงแถวเริงร่ากลางป่า

อ่านข่าว เปิดงาน "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" ชูแคมเปญ "ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้า" 

มูลเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เก็บข้อมูลวิจัย

มูลเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เก็บข้อมูลวิจัย

มูลเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เก็บข้อมูลวิจัย

ไขปริศนาเสือโคร่งดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กินอะไร?

ขณะที่นักวิจัย ยังเปิดเผยผลการเก็บข้อมูลการวิจัย “มูล” หรือขี้ที่เสือโคร่งถ่ายทิ้งไว้ตามเส้นทางด่านสัตว์ นอกจากตัวมันเองจะใช้ประโยชน์ในการสื่อความหมายถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่อาศัยหรือบ้านของมันแล้ว

นักวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ในการย้อนรอยถึงต้นทางของชนิดอาหารที่มันกลืนเข้าปาก สู่ กระเพาะ ผ่านลำไส้ แล้วไหลออกทางทวาร เป็นกองมูล

ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 สถานีวิจัยสัตวป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้สำรวจเก็บมูลเสือโคร่งตามเส้นทางต่าง ๆ ในบางส่วนของพื้นป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ตามภาพแผนที่) ได้มา 46 ตัวอย่าง

เมื่อนำมาล้างด้วยน้ำให้เหลือเพียง เส้นขน ชิ้นส่วนแข็ง เช่น กีบ เพื่อนำไปใช้ในการระบุชนิดเหยื่อที่เสือโคร่งกินเข้าไป โดยการเปรียบเทียบกับเส้นขนตัวอย่างที่ทราบชนิด

เส้นขน และเศษสิ่งที่หลงเหลือในมูลบอกได้ว่า เสือโคร่งที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กินสัตว์ป่าชนิดต่างๆ อย่างน้อย 9 ชนิดคือ กวางป่า หมูป่า กระจง กระทิง เก้ง วัวแดง เลียงผา หมูหริ่ง และหมีควาย (แผนภาพ) ซึ่งมีความหลากของชนิดเหยื่อแตกต่างจากฝั่งห้วยขาแข้งที่เคยได้มีการศึกษาด้วยวิธีเดียวกันแล้วรายงานไว้ว่า เสือโคร่งกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 16 ชนิด

นอกจากความต่างของความหลากชนิดของเหยื่อแล้ว ประเด็นชนิดเหยื่อหลักที่พิจารณาจากค่าร้อยละความถี่ที่พบในมูล ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยโดยการศึกษาที่ห้วยขาแข้งระบุว่า วัวแดง (31%) กวางป่า (25%) เก้ง (12%) กระทิง (10.5%) และ หมูป่า (10.5%) เป็นชนิดเหยื่อหลักเมื่อวิเคราะห์จากมูล

ส่วนที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบว่ากวางป่า 33.3% เป็นเหยื่อหลัก ตามมาด้วย หมูป่า 21.6% กระจง 11.6% กระทิง 8.3% เก้ง 8.3% จะเห็นได้ว่าสัตว์กีบขนาดใหญ่ จัดเป็นเหยื่อหลักที่สำคัญของทั้ง 2 พื้นที่ เพราะว่าค่ารวมของร้อยละความถี่ของชนิดเหยื่อหลักสองชนิดแรกมีค่าเกิน 50% ทั้ง 2 พื้นที่

นอกจากนี้ยังได้รู้ว่าชนิดอาหารว่าง หรือ snack ของเสือโคร่งดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คือ กระจง ส่วนฝั่งขาแข้งมีวาสนาได้กินแค่ เก้ง เป็นอาหารว่างเท่านั้น

อ่านข่าว ครั้งแรก! "เสือลายเมฆ" เข้าใช้พื้นที่อุโมงค์เชื่อมป่า 304

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง