คำพิพากษาฉบับเต็ม ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" ย้าย "ถวิล" 12 ปีก่อน

การเมือง
26 ธ.ค. 66
18:30
1,757
Logo Thai PBS
คำพิพากษาฉบับเต็ม ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" ย้าย "ถวิล" 12 ปีก่อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" คดีย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" อดีตเลขาฯ สมช.เมื่อ 12 ปีก่อน พ้นคดีละเว้นมาตรา 157 ไม่มีเจตนาสั่งย้ายไม่เป็นธรรมเพื่อเปิดทางให้คนใกล้ชิดขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

วันนี้ (26 ธ.ค.2566) เมื่อเวลา 13.30 น. องค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 11/2565 หมายเลขแดงที่ 30/2566 ระหว่าง อัยการสูงสุดโจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย 

โจทก์ฟ้อง และแก้ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้าย และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้าย พล.ต.อ. " ว" ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทน

และบรรจุแต่งตั้ง พล.ต.อ. "พ." ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.อันเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้ายหรือการให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ. "พ." เครือญาติของจำเลย

และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดี หมายเลขแดงที่ อม.211/2560 และจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.2/2565 ของศาลนี้

องค์คณะผู้พิพากษา เห็นว่า แม้มูลกรณีคดีนี้จะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2557 แล้วก็ตาม แต่คดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คงพิจารณาวินิจฉัยแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้อง (จำเลยคดีนี้ ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น หรือของพรรค การเมืองในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชกรซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนี่ง (9) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่เท่านั้น 

และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงผูกพันศาลนี้ให้รับฟังได้เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลย ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ก็มีประเด็นเพียงว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.2554 ที่สั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 ก.ย.2554 ที่สั่งให้นายถวิลพันจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่

จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย และยังไม่มีศาลใดวินิจฉัยมาก่อน จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของจำเลย

นอกจากจะต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามประมวลกฎมาตรา 59 และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 129/1 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 ด้วยจึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาผูกพันให้ศาลนี้ต้องรับฟังตาม

ส่วนประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำความผิดตามฟ้อง นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษในขณะกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

โดยพยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำแตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป

ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับนายถวิลเป็นการส่วนตัว อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งนายถวิลแต่อย่างใด จำเลยคงอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลก่อนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

โดยมีนายถวิลเป็นกรรมการและเลขานุการ เกิดเหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.ความมั่นคงแห่งชาติ แสดงว่ากรณีมีเหตุที่จะโอนนายถวิล มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ได้มีข้อคำนึงถึงว่า พล.ต.อ. " ว." จะยินยอมย้ายจากตำแหน่ง ผบ.ตร.มาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.หรือไม่

ทั้ง พล.ท. "ภ." อดีตเลขาฯ สมช.เบิกความว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลย่อมต้องการผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติก็มีความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยก่อนที่นายถวิลจะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว มี พล.ท. "ส." ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อเข้าสู่สมัยนาย "อ." เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการโอนย้าย พล.ท. "ส." จากต้นสังกัดเดิมมาแต่งตั้งให้นั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำเช่นเดียวกับกรณีของนายถวิล การใช้ดุลพินิจย้ายนายถวิล จึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาเกิดความเสียหายแก่นายถวิล

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องการให้ พล.ต.อ."พ." ญาติของจำเลยขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.นั้น เมื่อทางไต่สวนไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยัน กรณีจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยมาตั้งแต่แรก

ทั้งหากจำเลยมีเจตนาตระเตรียมการให้รับโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำ แหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และรับโอน พล.ต.อ." ว." มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.แทน เพื่อที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลงแล้ว น่าจะต้องมีการแจ้งหรือทาบทาม พล.ต.อ." ว." ให้ยินยอมที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสียก่อนแต่ขณะที่นาย บ.จัดทำบันทึกขอรับโอนนายถวิล

จนถึงวันที่ ครม.มีมติอนุมัติการโอนนายถวิล มาแต่งตั้งให้ดำรงแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำนั้น ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยสั่งการหรือมอบทาม พล.ต.อ. "ว." ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้นายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ พล.ต.อ." ก." ได้ศัพท์มาทาบทาม พล.ต.อ. "ว." แล้วพล.ต.อ."ว." จึงตัดสินใจไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว 

ภายหลังจากที่โยกย้ายนายถวิลไปแล้วนานถึง 22 วัน ยิ่งกว่านั้น ขณะที่จำเลยสั่งการให้โอนนายถวิล ก็ไม่มี ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทราบว่าต่อมาภายหลัง พล.ต.อ. " ว." จะสมัครใจย้ายหรือไม่ หรือจะย้ายไปดำรงตำแหน่งใด เมื่อใดย่อมรับฟังไม่ได้ว่าจำเลย สั่งการให้รับโอนนายถวิล โดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง และไม่อาจฟังได้ว่าการสมัครใจย้ายของ พล.ต.อ. "ก" เป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายนายถวิลอีกด้วย

ส่วนที่นาย บ. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีบันทึกข้อความถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.ก.) เพื่อขอรับโอนนายถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยระบุว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.ก.) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนแล้ว ทั้งที่ น.ส.ก.ยังมิได้

ความเห็นชอบ และมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารจากวันที่ 4 ก.ย.2554  เป็นวันที่ 5 ก.ย. ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าวส่วนการดำเนินการในการขอรับโอน ขอรับความเห็นชอบ และเสนอ ครม.เพื่อมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ 

รวมทั้งการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่ สำนักนายกรัฐมนตรีใช้เวลาเพียง 4 วัน ก็ได้ความว่าการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุม ครม.เป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นบ่อย จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ และที่จำเลยมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิล ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.

โดยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติในวันที่ 6 ก.ย.2554 ได้ร่วมประชุม ครม.และร่วมลงมติอนุมัติให้ นายถวิล พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้รับอนุมัติจากครม.แล้วจำเลยได้ออกคำสั่งให้นายถวิลไป ปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีภายหลังคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติแล้ว ก็เป็นกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง

การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ."พ." จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้ อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง 

พิพากษายกฟ้อง

อ่านข่าว

"ทวี" แจง "ทักษิณ" นอนนอกคุกเกิน 120 วันไร้ตีกรอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง