Deep Space Network เครือข่ายสื่อสาร “ยานอวกาศห้วงลึก” ของนาซาอายุครบ 60 ปี

Logo Thai PBS
Deep Space Network เครือข่ายสื่อสาร “ยานอวกาศห้วงลึก” ของนาซาอายุครบ 60 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“นาซา” ฉลองระบบโครงข่าย Deep Space Network มีอายุครบ 60 ปี หลังทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1963

สำหรับการติดตามข่าวสารแวดวงอวกาศ เรามักจะได้ยินชื่อของระบบเครือข่ายสื่อสารอวกาศห้วงลึกหรือ Deep Space Network ระบบสื่อสารนี้มีบทบาทสำคัญในการติดต่อรับส่งสัญญาณกับยานอวกาศต่าง ๆ ที่กำลังสำรวจอวกาศ ทั้งโคจรรอบดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาต หรืออาจกำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะ เช่นยานโวยาเจอร์ 1 และ 2 หรือยานนิวฮอไรซันส์ ทั้งหมดจะต้องถูกเชื่อมต่อผ่านระบบ Deep Space Network ทั้งสิ้น

ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ผู้ดูแลระบบ Deep Space Network ได้ออกมาประกาศผ่านทางเว็บไซต์เพื่อฉลองการครบรอบการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1963 ซึ่งในตอนนั้นสหรัฐฯ ต้องออกแบบระบบสื่อสารในห้วงอวกาศที่สามารถส่งสัญญาณหายานอวกาศได้ตลอดเวลาแม้โลกจะหมุนรอบตัวเองอยู่ จึงเกิดเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้วยการวางจานรับส่งสัญญาณไว้ 3 มุมสำคัญของโลก ได้แก่สหรัฐอเมริกา สเปน และออสเตรเลีย ระบบจานรับสัญญาณทั้ง 3 จุดจะทำงานร่วมกันเพื่อให้นาซาสามารถติดต่อกับยานอวกาศที่อยู่ในซีกฟ้าต่าง ๆ ของโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ระบบ Deep Space Network นั้นได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเพื่อรองรับการให้บริการยานอวกาศที่หลากหลาย ไม่เฉพาะของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังสามารถให้บริการยานอวกาศสำหรับชาติพันธมิตรในภารกิจสำคัญได้ด้วย เช่น โครงการจันทรายานของอินเดีย หรือโครงการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ เป็นต้น ทีมเทคนิคของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นได้ระบุว่าพวกเขาจัดทีมเฝ้าดูแลระบบดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

นอกจากการใช้คลื่นวิทยุและคลื่นไมโครเวฟในการติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศแล้ว นาซาและห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการนำเอาเทคโนโลยีสื่อสารด้วยลำแสงมาใช้งาน ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกทดสอบกับยานอวกาศไซคี ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จในการส่งวิดีโอแมวความละเอียดสูงกลับสู่โลกโดยอาศัยอุปกรณ์บนยานอวกาศ ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคตระบบ Deep Space Network อาจเพิ่มช่องสัญญาณในการให้บริการผ่านลำแสงมาใช้งานด้วยอีกเช่นกัน

ที่มาข้อมูล: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง