สั่งสแกน "สายสีเหลือง" 100 % ทุกขบวนกลับมาวิ่งครบ 6 ม.ค.

เศรษฐกิจ
3 ม.ค. 67
18:59
642
Logo Thai PBS
สั่งสแกน "สายสีเหลือง" 100 % ทุกขบวนกลับมาวิ่งครบ 6 ม.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“คมนาคม” สั่งสแกนความปลอดภัยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำรอบออกให้บริการนานขึ้น จากขบวนละ 5 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นไม่ต่ำกว่า 30 นาที คาดกลับสู่ภาวะปกติเสาร์นี้ ส่วนเหตุล้อหลุดมาจากข้อบกพร่อง การผลิตจากโรงงาน ลั่นนำระบบตัดแต้มมาใช้ เอาผิดผู้รับเหมางานรัฐ

วันนี้ (3 ม.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง อาจต้องปรับแผนการเดินทาง หลังจากนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม สั่งกรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท อิสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ในฐานะผู้รับสัมปทาน ตรวจสอบรถและอุปกรณ์ทุกชิ้นแบบ 100 % ก่อนปล่อยรถออกให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย

ส่งผลให้ผู้ใช้บริการอาจต้องรอรถรอบละไม่ต่ำกว่า 30-55 นาที เนื่องจาก มีรถพร้อมให้บริการ เพียง 3 ขบวน โดยรถจะทยอยเข้าระบบเพิ่มขึ้น กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฃหรือวิ่งให้บริการรอบละ 5 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน ในวันที่ 6 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในระหว่างที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ บริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่สามารถเรียกเก็บค่าโดยสาร และรัฐบาลจะไม่มีการตั้งงบประมาณขึ้นมาอุดหนุนชดเชยค่าเสียโอกาสดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนปัญหาล้อประคองหลุด เบื้องต้นเกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิตจากโรงงาน จึงสั่งการให้ระงับการใช้ล้อและอุปกรณ์ ที่ผลิตในล็อตเดียวกันแล้ว รวมทั้งปรับแผนตรวจสภาพและซ่อมบำรุงให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น การลดระยะเวลาเปลี่ยนล้อลูกปืน จากเดิมหากพบช่องว่างเกิดขึ้น 1 มิลลิเมตร เหลือ 0.5 มิลลิเมตร ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที เช่นเดียวกับการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสภาพ จากเดิมทุก ๆ 15 วัน เหลือ 7 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย และเรียกความเชื่อมั่นผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ เช่น การติดตั้งโครงสร้างรองรับ หากมีวัตถุหล่นลงมาจากระบบรถไฟฟ้า แต่ต้องใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรมด้วย

รวมทั้งพิสูจน์สันนิษฐานอื่น ๆ เนื่องจากอุบัติเหตุทั้งกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ล้วนเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว หรือโมโนเรล ที่นิยมใช้ในประเทศที่มีสภาพอากาศเย็น จึงสั่งให้รวบรวมชิ้นส่วนที่เกิดเหตุ ส่งเข้าห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมในต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ ทั้งความทนทานในสภาพอากาศร้อน ความชื้นและการวิ่งให้บริการระยะทางต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาว่า รถไฟโมโนเรลยังเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถูกออกแบบให้ใช้ ระบบรถไฟรางเดี่ยวหรือโมโนเรล ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานสอดรับกับพื้นที่เขตชุมชนที่มีระยะกว้างไม่มากนัก มีระยะเลี้ยวสั้น สามารถไต่ขึ้นทางชันได้

ประกอบกับระบบนี้ถูกใช้ในประเทศพัฒนามานานแล้ว ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบโมโนเรล เกิดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่รถและอุปกรณ์ที่ใช้ในไทย มาจากบริษัทแม่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นข้อบกพร่อง หรือ defect ที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งหากพบก็ต้องดำเนินการคืนชิ้นส่วนล็อตที่มีปัญหา หรือ recall กลับไป และส่งชิ้นส่วนล็อตใหม่ให้ไทย

ส่วนบทลงโทษผู้รับสัมปทานนั้น ต้องรอข้อสรุปจากห้องปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ เพราะ หากเป็นความผิดพลาด และบกพร่องของผู้รับสัมปทาน ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐอีก ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำลังพัฒนาระบบตัดแต้มผู้รับเหมางานภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่ง ในการกำกับดูแลเอกชน ให้รับผิดชอบต่องานประมูลของรัฐมากขึ้น

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวถึงปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ขัดข้อง บ่อยครั้ง และล่าสุดเกิดเหตุขัดข้องเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ระบุว่า โครงการดังกล่าวขาดความต่อเนื่องในการซ่อมบำรุงใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และได้ปรับสัญญา ให้บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้บริหาร ในฐานะผู้รับสัมทปานโครงการเชื่อมรถไฟฟ้า 3 สนามบิน จึงได้เตือนให้เอกชนเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบการต่อสัญญาสัมปทาน

นอกจากนี้ นายสุริยะยังกล่าวถึงอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันที่ สนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ โดยมอบหมายให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย วิเคราะห์ปัญหา และเหตุการณ์ เพื่อถอดบทเรียน ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวในไทย ซึ่งอาจกระทบภาพลักษณ์ความปลอดภัย และการท่องเที่ยว

อ่านข่าวอื่นๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง