อภิปรายงบประมาณ “เป็ดง่อย” การกลับมาเข้มของ "พรรคประชาธิปัตย์"

การเมือง
4 ม.ค. 67
16:25
313
Logo Thai PBS
อภิปรายงบประมาณ “เป็ดง่อย” การกลับมาเข้มของ "พรรคประชาธิปัตย์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือได้เห็นการกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่เคยได้ชื่อว่า เป็นฝ่ายค้านทีไร รัฐบาลสั่นสะเทือนทุกที

โดยเฉพาะการทำหน้าที่อภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างความฮือฮาตั้งแต่ต้น เมื่อให้สมญา “งบประมาณเป็ดง่อย” ทั้งติติงและสอนมวยรัฐบาลเรื่องการจัดทำงบประมาณ ที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

เพราะงบลงทุน หัวใจหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีสัดส่วนน้อยมาก ขณะที่งบฯ กลางที่เป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินตามอำนาจนายกฯ กลับเพิ่มขึ้นสูง เช่นเดียวกับงบฯ ที่ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้นจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จนยกให้เป็น “นักกู้ถุงเท้าสีชมพู”

เป็นการเพิ่มบรรยากาศการประชุมสภาฯ ให้ดูเข้มข้นเร้าใจตั้งแต่แรก และถือเป็นการไว้ลายของนักการเมืองฝีปากกล้าคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างคนในแบบฉบับนี้ต่อเนื่องมายาวนาน ส.ส.รุ่นใหม่ ที่ได้เห็นลีลาน่าสนใจในการอภิปรายวันแรก คือนายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา ทายาทคนสำคัญของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย และแกนนำหลักของพรรคประชาธิปัตย์

ที่เคลือบแฝงอยู่มากกว่านั้น สำหรับนายจุรินทร์ คือประสบการณ์ที่โชกโชน มีคูเหลี่ยมการเมือง ความที่ไม่ธรรมดารู้ทันรัฐบาลว่าคิดอะไร และมีวิธีการจัดทำงบประมาณอย่างไรให้ภาพภายนอกดูดี แต่มีสอดแทรกไส้ในไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งขับเคี่ยวแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ปี 2544 แม้จะไม่สามารถสู้กับคะแนนนิยม ที่ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายแบบประชานิยมได้ แต่ได้แสดงฤทธิ์เดชในการต่อต้านขัดขวาง และเรียกคะแนนจากคอการเมืองทั่วไปได้เสมอมา อาทิ การประท้วงอย่างเข้มข้นในวันลักหลับหวังผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เมื่อปี 2556 นำไปสู่การชุมนุมของ กปปส.

หรืออีกหนึ่งเหตุการณ์ คือความชุลมุนวุ่นวายในการประชุมสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2555 ที่พรรคประชาธิปัตย์ขวางการเลื่อนระเบียบวาระ เอาร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาก่อน ถึงขั้นมีภาพส.ส.หญิง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ไปดึงยื้อแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯ สร้างความฮือฮาเมื่อปี 2555

เป็นภาพจำที่ทำให้แกนนำสำคัญในพรรค อย่างนายชวน หลีกภัย ไม่เห็นด้วยแต่ไหนแต่ไร หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปจับมือหรือเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพราะเรื่องราวในอดีตมีมากจนทำใจไม่ได้

ส่วนที่ตีคู่กันมาในการอภิปรายวันแรก คือการพาดพิงคนป่วยชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายจุรินทร์ ที่ถามแทงใจดำรัฐบาล ในฐานะผู้ใช้งบประมาณว่า ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง 2.8 แสนคนหรือไม่ กรณีปล่อยให้นักโทษบางคนเข้าคุกทิพย์นานกว่า 120 วันไปแล้ว แต่ยังไม่เคยติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว

ร้อนถึงวิปรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย อย่างนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ ต้องลุกขึ้นประท้วงทันควัน ยังไม่นับรัฐมนตรียุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ต้องลุกขึ้นชี้แจงในเวลาต่อมา ยืนยันนายทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริง แม้จะไม่เคยไปเยี่ยม แต่ได้รับคำยืนยันจากแพทย์ผู้ทำการรักษา

ทั้ง 2 ประเด็นนี้ เป็นการสะท้อนนัยในทีว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ คมด้วยคารม ลบคำปรามาสว่าจ้องจะรอเสียบร่วมรัฐบาลท่าเดียวได้อย่างอยู่หมัด แต่จะถูกใจคณะบริหารชุดปัจจุบันหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนประเด็นการตั้งฉายาให้รัฐบาลและงบประมาณปี 2567 ถือได้ว่าเป็นสีสันหนึ่งที่ช่วยเติมให้บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าจืดชืดไปสักหน่อย ให้มีน้ำจิ้มเผ็ด ๆ เค็ม ๆ ขึ้นมาบ้าง

นอกจากงบประมาณเป็ดง่อย และนักกู้ถุงเท้าสีชมพู จากนายจุรินทร์แล้ว ยังได้รับฉายา งบ “3 ขาด 3 เกิน 1 พอได้” โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. พรรคไทยสร้างไทย งบประมาณรวมการเฉพาะกิจ และแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ โดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมทั้งการออกลูกเหน็บของผู้ช่วยส.ส.พรรคก้าวไกล #นายกฯส้มหล่น ก่อนการประชุมสภาฯจะเริ่มขึ้น

ทำให้คาดการณ์ไม่ได้ว่า ครบ 3 วันศึกการอภิปราย จะได้สมญาอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง แต่ที่แน่ ๆ เอฟซีรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ได้เห็นนายกรัฐมนตรี ยังยิ้มสู้ไม่ถอย รวมทั้งคงเข้าใจธรรมชาติการเมืองไทยมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการใส่ถุงเท้าหลากสี

ด้านหนึ่งถือเป็นเอกลักษณ์จุดเด่นของนายกฯที่ใคร ๆ ต้องพูดถึง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใส่ถุงเท้าหลากสีก็มีสิทธิ์จะถูกนำไปตั้งฉายารัฐบาลได้เช่นกัน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง