ปชป.ตั้ง “เดชอิศม์-นริศ” ติวเข้มสส.จัดหนักศึกซักฟอกรัฐบาล

การเมือง
7 ม.ค. 67
15:19
298
Logo Thai PBS
ปชป.ตั้ง “เดชอิศม์-นริศ” ติวเข้มสส.จัดหนักศึกซักฟอกรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กก.บห.ปชป. เดินเครื่อง สั่ง 5 รองภาคจัดยุทธศาสตร์ลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน ตั้ง“เดชอิศม์-นริศ” กุมบังเหียนศึกซักฟอกรัฐบาล ดัน“ดร.เอ้” ดูงานประชาสัมพันธ์พรรค ด้าน “ราเมศ” ยันทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มที่หลังถูกตั้งคำถามออมมือ

วันนี้ (7 ม.ค.2567) นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ นัดแรก นานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งการตอบรับการเปลี่ยนแปลงจาก กกต. ซึ่งมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 40 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปภาพรวมของการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ สส.ได้ทำการอภิปราย โดยกรรมการบริหารพรรคได้ชื่นชมการทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็งตรงไปตรงมา ติติง และมีข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

กรรมการบริหารฯมีการพูดคุยวาระที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถึงการเตรียมตัวในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ซึ่งมอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค และนายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทางการเมืองเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคจะเริ่มทันทีเพื่อให้ประชาชนเห็น แม้จะมีการเปลี่ยน กก.บห.ชุดใหม่ แต่ประชาธิปัตย์มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างเต็มที่ และได้สั่งให้รองภาคทั้ง 5 คน 5 ภาค กำหนดกรอบการทำงานผ่านยุทธศาสตร์ภาค ยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาประกอบการทำงานของพรรค

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการตั้งตัวแทนสาขาพรรคในทุกจังหวัด เพื่อทำงานกับตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เพราะมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเขตเลือกตั้งกับสมาชิกของพรรคในการดูแลปัญหาของประชาขน

เพราะส่วนกลางอาจจะทำงานอย่างละเอียดไม่ได้ ในการแก้ปัญหารวมถึงการร้องเรียนของประชาชนทุกเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ทำควบคู่ไปกับแนวนโยบายของหัวหน้าพรรคในการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกลไกการเป็นส่วนร่วมของพรรคการเมือง

 กรรมการบริหารพรรคฯ ได้พูดคุยถึงการรณรงค์ให้ประชาชน ร่วมกันเสียภาษีให้กับพรรคการเมือง โดยปชป.จะทำแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริจาคภาษีให้ประชาธิปัตย์ผ่านรหัส 001 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความเป็นสถาบันทางการเมือง การทำงานร่วมกับ สส. และมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีเอกภาพ ทุกองคาพยพ ทั้ง กก.บห. , สส. , อดีต สส. ,อดีตกก.บห. ,สาขาพรรค ตัวแทนประจำจังหวัด

ซึ่งนายเฉลิมชัยได้เน้นย้ำเรื่องการเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น และรับฟังทุกเสียงสะท้อน รวมถึงเสนอแนะเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

ที่ประชุมตั้ง นายสุชัชวี สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ เข้ามาดูเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้ทั้ง 77จังหวัดให้มากที่สุด เพื่อการฟื้นฟูพรรค และเรียกศรัทธาให้กับพรรคได้มากที่สุด

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

อภิปรายงบประมาณ “เป็ดง่อย” การกลับมาเข้มของ "พรรคประชาธิปัตย์"

"เศรษฐา" ชี้แจงสภาฯ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญแก้ PM 2.5

นายราเมศระบุว่า พรรคเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ผ่าน สภาผู้แทนราษฎร หลังหลายฝ่ายตั้งคำถามเรื่องทำหน้าที่ไม่จริง และออมมือบ้าง แต่การอภิปรายที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ในส่วนนักโทษที่มีที่พักที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีการตั้งงบฯ มานั้น ได้ใช้งบประมาณส่วนไหน มีความเท่าเทียมหรือไม่

พรรคเป็นฝ่ายค้านที่หน้าที่อย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา เรื่องไหนทำถูกต้องก็ยินดี และหากไม่ถูกต้องก็ต้องท้วงติง เพราะประชาชนคงตั้งคำถามในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ และถือว่ามีพรรคการเมืองเดียวที่พูดเรื่องนี้

เมื่อถามว่า จะเป็นการตอกย้ำว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายราเมศ ระบุว่า มันเป็นคำถามที่ทุกคนพูดถึงมากเกินไป ซึ่งยืนยันว่า ปัจจุบันยังทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นอีกกิจกรรมทางการเมือง ที่ชี้ให้เห็นว่า พรรคเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และสร้างสรรค์

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ตนมองว่า เป็นการกล่าวหาพรรคและพรรคก็เสียหาย ทั้งพรรคมีความไม่ชัดเจน ซึ่งความชัดเจนนั้นได้ผ่านการกระทำและการปฏิบัติ

เมื่อถามว่า ในวันที่ 18 ม.ค.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการหารือกับผู้นำฝ่ายค้านในประเด็นใดบ้างนั้น นายราเมศ ระบุว่า การเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกัน ถือเป็นเรื่องปกติของการที่จะพูดคุยกัน และพรรคก้าวไกล ถือว่า เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่กำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายพรรค

เราแสดงความเห็นหลายครั้ง ไม่ใช่ว่า เป็นฝ่ายค้านแล้วจะเห็นด้วยในนโยบายของพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยกลไกในการทำงานร่วมกันภายในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งการจัดสรรเวลา จัดสรรข้อมูลต่าง ๆ ของการทำงานในสภา ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านร่วมกันจึงมีความจำเป็นต้องพูดคุยเพื่อให้บทบาทของฝ่ายค้านในสภาเป็นอย่างราบรื่น

อ่านข่าวอื่นๆ:

"อนุทิน" แจงงบฯ มท.เทให้การสร้างโอกาส-ความเสมอภาค 3.7 แสนล้าน

“จุลพันธ์” ผิดหวัง “ศิริกัญญา” หยิบตัวเลข GDP บางส่วนมาอภิปรายงบฯ 67

สวรรค์กับนรก! "เทพไท" ยัน "ทักษิณ" อภิสิทธิ์เหนือนักโทษทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง