พบ "วาฬโอมูระ" 3 ครั้ง กลางทะเลอันดามัน แต่ยังไม่เจอ "วาฬเผือก"

Logo Thai PBS
พบ "วาฬโอมูระ" 3 ครั้ง กลางทะเลอันดามัน แต่ยังไม่เจอ "วาฬเผือก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ กรมอุทยานฯ ออกสำรวจบริเวณอ่าวพังงาตอนล่างถึงตอนบนของเกาะราชาใหญ่ พบ "วาฬโอมูระ" 3 ครั้ง แต่ยังไม่พบ "วาฬโอมูระเผือก"

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้กำชับให้กรม ทช. สำรวจ สถานภาพ และเฝ้าระวังสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก

ทั้งนี้จึงสั่งการให้ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นำเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ลงพื้นที่สำรวจอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าว : สำรวจสัตว์ทะเลหายากอ่าวไทยตอนบน พบวาฬบรูด้า 9 ตัว

เจ้าหน้าที่กรม ทช. ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสำรวจ 3 แบบ ทั้งการวิ่งเรือสำรวจด้วยวิธีการวางเส้นแนวสำรวจ (Distance Transect Sampling) โดยใช้เรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 805 และเรือสปีดโบ๊ท สำรวจบริเวณอ่าวพังงาตอนล่างถึงบริเวณตอนบนของเกาะราชาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 200 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้ ใช้การบินสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับปีกตรึง บริเวณตอนใต้ของเกาะไม้ท่อน ในรัศมี 8 กิโลเมตร และสอบถามข้อมูลการพบเห็นจากภาคการท่องเที่ยวและเรือประมง โดย อทช. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมฯ เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์แนะนำข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่อวาฬโอมูระและสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย

จากการปฏิบัติงานคณะสำรวจได้พบวาฬโอมูระสีปกติ จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งแรกสำรวจพบวาฬโอมูระ 1 ตัว โดยทีมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะพีพี ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. พบขึ้นหายใจ นับได้ประมาณ 3 ครั้ง แล้วก็เคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำอย่างเร็ว
  • ครั้งที่ 2 พบโดยทีมเจ้าหน้าที่ ทช. บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะไม้ท่อน เป็นวาฬโอมูระความยาว 9 เมตร จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามเป็นระยะเวลา 30 นาที ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วาฬมีอัตราการหายใจ 6 ครั้งใน 5 นาที มีรูปร่างสมบูรณ์ มีพฤติกรรมว่ายน้ำและหากินปกติ
  • ครั้งที่ 3 พบวาฬโอมูระ จำนวน 4 ตัว บริเวณหลังเกาะเฮ ว่ายน้ำหากินอยู่ทั้งระยะใกล้และไกลเรือ ในการนี้ ทีมเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อศึกษาด้วยเทคนิค eDNA และข้อมูล Photo ID เพื่อจำแนกและเปรียบเทียบตัวตนและเพื่อสรุปจำนวนประชากรต่อไป
การพบเห็นทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่พบวาฬโอมูระเผือก 

อ่านข่าว : พบ "วาฬเผือก" รายงานแรกของไทย กลางทะเลภูเก็ต

ทั้งนี้ระหว่างปฏิบัติการในช่วงเช้ามีลมแรงและคลื่นหัวแตกค่อนข้างถี่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพบเห็น ส่วนในช่วงบ่ายทะเลค่อนข้างเรียบมีลมเล็กน้อย ระหว่างเส้นทางสำรวจไม่ผลการกระทำผิดทางทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยว และเรือประมงในพื้นที่ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับวาฬดังกล่าวด้วย ซึ่งการปรากฏตัวของวาฬสะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362

อ่านข่าวอื่น ๆ

จนท.กรมอุทยานฯ-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ผนึกกำลังสำรวจหาวาฬเผือก

ส่ง “โนบิตะ - ชิซุกะ- ไบรอัล” 3 อุรังอุตัง กลับบ้านเกิดอินโดนีเซีย

ตัวแรก! อพวช.ขึ้นทะเบียน "ออร์ฟิช" ศึกษาอนุกรมวิธาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง