ไม่ตรงปก ! วิกฤตศึกษาไทย ผลิตคนไม่ตอบโจทย์ ตลาดแรงงาน

เศรษฐกิจ
15 ม.ค. 67
13:03
715
Logo Thai PBS
ไม่ตรงปก ! วิกฤตศึกษาไทย ผลิตคนไม่ตอบโจทย์ ตลาดแรงงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค. เผยวิกฤตการศึกษาไทย ระดับคะแนนต่ำในภูมิภาคอาเซียน เด็กเมินสายอาชีวะ ส่งผลกระทบขาดแคลนแรงงานสายอาชีพ ไม่รองรับการขยายตัวของทุนต่างชาติ แนะรัฐบาลเร่งลงทุนทรัพยากรมนุษย์ระยะยาว ตอบโจทย์การค้าและการลงทุน

วันนี้ (15 ม.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึง การพัฒ นาการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อแรงงานที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะและกระบวนการคิดที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน

จึงมีเสียงสะท้อนให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตแรงงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแต่ละภาคส่วนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากบางส่วนมองว่า แรงงานของไทยยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองในบางอุตสาหกรรม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

จากผลสำรวจความต้องการแรงงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปี 2565 พบว่า มีภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มากถึง 12,000 ตำแหน่ง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แม้รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ปี 2566 จะแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของกำลังแรงงานในระยะยาวที่ดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงว่า ไทยอาจประสบปัญหาแรงงานทักษะที่ไม่เพียงพอในภาคบริการ

ในขณะที่คู่แข่งด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ต่างเร่งการพัฒนาด้านแรงงานทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ ซึ่งในอนาคตอาจทำให้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยทำได้ยากขึ้น และเป็นความท้าทายที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เมื่อย้อนดูคุณภาพการศึกษาของไทยซึ่งเป็นต้นทางการผลิตแรงงาน พบว่า คะแนนของเด็กไทยต่ำลงในทุกหมวด ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

อย่างไรก็ตาม หากเทียบเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ระดับคะแนนของไทยยังต่ำกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งยังมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวอื่นๆ:

"หมอธีระวัฒน์-ปานเทพ" แถลง 7 ประเด็น กังขาฉีดวัคซีนโควิด

รัฐบาลเตรียมนำร่อง "วีซาพิเศษ" ให้นักท่องเที่ยวสนใจ "ฝึกมวยไทย"

เปิด "เบื้องหลัง-เบื้องลึก" แรงงานไทย เก็บเบอรี่ในฟินแลนด์

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทย คือ การผลิตบุคลากรที่ไม่ตรง หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เกิดขึ้นจากค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาในสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ประกอบกับภาพลักษณ์ในเชิงลบที่มีต่อผู้เรียนในสายอาชีวะ ทำให้ความต้องการศึกษาในสายอาชีวะลดลง

ไทยขาดแคลนแรงงานในสายอาชีวะจำนวนมาก ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามายังไทย รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานบางสาขาในอนาคต และขาดบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีในการสอนให้เพิ่มสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้น เช่น ขาดแรงงานทักษะใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า ไทยมีผู้ทำงานจริงเพียง 39.6 ล้านคน จากประชากร 66.1 ล้านคน

ขณะที่ผลสำรวจด้านแรงงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 พบว่า ไทยยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับการศึกษา ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานกว่า 168,992 คน แบ่งออกเป็นความต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีขึ้นไป 29,037 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน และอื่น ๆ อีก 5,090 คน

สะท้อนว่าระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาแรงงานได้น้อยกว่าความต้องการของตลาดอยู่มากพอสมควร ในขณะที่ ผู้ประกอบการต่างชาติมีค่าแรงสูง มีการแย่งตัวแรงงานด้วยการแข่งขันด้านค่าแรง ทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนแรงงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า

ที่สำคัญคือ แรงงานที่มีลักษณะการทำงานซ้ำ ๆ อาจถูกแทนที่ด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ และอาจส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานรวมของประเทศลดลง และการศึกษาที่ขาดคุณภาพส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมีผลิตภาพต่ำ และมีทักษะที่ไม่หลากหลาย ทางเลือกในการประกอบอาชีพจึงมีน้อย เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ฯ ย้ำว่า การศึกษานับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ทั้งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร ไม่สามารถสร้างหรือปรับเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น ควรต้องเร่งพัฒนาการศึกษาตั้งแต่วันนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ

อ่านข่าวอื่นๆ:

กสทช.ประกาศคนมีเบอร์เกิน 6 ซิม ต้องยืนยันตัวตน เริ่ม 16 ม.ค.นี้

"นมกล่อง"จ่อขึ้น 50 สตางค์ พาณิชย์แจง"น้ำนมดิบ"ปรับราคา

"ภูมิธรรม" ไฟเขียวปรับ พ.ร.บ.ข้าว เสริมสภาพคล่องธุรกิจข้าวไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง