"สะพานเกาะพยาม" หรือต้องการอนุรักษ์ “ความลำบาก” ไว้ให้ชาวมอแกน

ภูมิภาค
16 ม.ค. 67
19:54
481
Logo Thai PBS
"สะพานเกาะพยาม" หรือต้องการอนุรักษ์ “ความลำบาก” ไว้ให้ชาวมอแกน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หนึ่งในเสียงสะท้อนจากชาวมอแกน ในเกาะพยาม จ.ระนอง เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิทธิหลายอย่างถูกหลงลืม จนกระทั่งภาพเหตุการณ์เด็กๆ นับสิบคนตกจากแพ ที่ข้ามน้ำอันไหลเชี่ยว จากชุมชนมอแกนมาขึ้นเกาะพยาม เพื่อไปโรงเรียน เด็กๆ บาดเจ็บ 3 คน ทำให้เสียงของชาวบ้านจึงดังขึ้นอีกครั้ง

วันนี้เป็นวันครู โรงเรียนเกาะพยาม ปิดการเรียนการสอน จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่น้องกุ้ง หรือ ด.ช.ต้มยำกุ้ง ทะเลลึก วัย 6 ขวบ และน้องดา หรือ ด.ญ.ญาดา ทะเลลึก นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 5 ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ต้องนั่งแพที่ใช้แรงมือดึงฝ่ากระแสหลากไปโรงเรียน บาดแผลจากรอยเชือกบนหน้าของน้องกุ้ง และข้อแขนที่ยังเจ็บอยู่ของน้องดา หลังแพล่ม ทำให้เด็กๆยังหวาดหวั่น

พอแพคว่ำ หนูก็หล่นลงในน้ำ แต่ตัวแพมาทับมือหนู ตอนนี้ก็ยังเจ็บๆอยู่ข้างใน ตอนนี้เวลาต้องนั่งแพอีกหนูก็กังวล และใจหายเลยคะ หนูก็อยากให้เค้ามาสร้างสะพาน เพราะเด็กๆจะได้ใส่รองเท้าที่บ้าน ไม่ต้องถอดรองเท้าข้ามน้ำแล้ว และข้ามไปทีเดียวเลยคะ

เด็กๆ ในชุมชนชาวมอแกนมีประมาณ 50 คน จากจำนวนชาวมอแกนทั้งชุมชนประมาณ 200 คน เด็กๆและชาวบ้านที่นี้ บอกว่า ในช่วงแรกที่มีการเริ่มสร้างสะพานเชื่อมไปยังเกาะก็มีความหวัง แต่ก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่ต้องหยุดก่อสร้างไปจนกระทั้งเครือข่ายได้ร่วมกันสร้างสะพานไม้ไผ่แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็ถูกแรงน้ำซัดพัง

จนถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 3 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนไปสำหรับคุณภาพชีวิตของพวกเขา และค่าชีวิตในอนาคตของเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสูติบัตร เพราะพ่อแม่มีบัตรประชาชนทั้งหมู่บ้านไม่ถึง 30 คน ทำให้สิทธิการเข้าถึงเรื่องต่างๆแทบไม่เกิดขึ้น กลายเป็นปัญหา ที่ซ่อนในซอกหลีบ สวนทางกับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวบนเกาะพยาม

เราก็อยากให้เค้ามาช่วยให้เด็กๆมีสูติบัตร เหมือนเด็กทั่วไป เพราะหากจบไปแล้ว ในอนาคต เด็กๆ จะได้ไปทำงานที่บังกาโล หรือที่ไหนก็ได้ที่เค้าอยากไป เด็กจะได้มีงานทำ จะได้ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือครอบครัว

นางกล้วย ทะเลลึก ชาวมอแกน กล่าว

กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาที่มาเยี่ยมชุมชนมอแกน ก็ต้องอาศัยแพที่ชาวบ้านดึงข้ามฝั่งยังเกาะ นางแพท มิลลิเกล ซึ่งเคยเป็นครูสอนหนังสือในประเทศของตัวเองเองมาก่อน บอกว่า ทุกๆปีตลอด 10 ปี จะมาเที่ยวที่เกาะพยาม ซึ่งตัวเองก็รู้สึกแปลกใจ ว่า ทำไมรัฐบาลของไทยถึงไม่สามารถสร้างสะพานแห่งนี้เพราะเธอเห็นว่าอนาคตและการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ

ควรจะมีสะพานเพื่อให้เด็กๆได้ไปโรงเรียน พวกเค้าควรจะได้ไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสะพานนี้ รัฐบาลมีงบฯ มากมายที่จะสร้างหลายสิ่งหลายอย่าง แต่นี่แค่สะพานเดียว น่าจะสร้างให้เด็กๆได้

นักท่องเที่ยวชาวแคนาดากล่าว

ปัญหาในการก่อสร้างสะพานเชื่อมหมู่บ้านมอแกน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพยาม แม้ก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะออกมาชี้แจงว่าไม่ขัดข้องในการเข้าใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสะพาน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย

จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะอนุมัติให้สร้างได้ แต่บทเรียนในการถูกละเลย ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิหลายๆ อย่าง และถูกหลงลืมมาโดยตลอด ทำให้ชาวมอแกนส่วนใหญ่ไม่คาดหวังมากนัก จนมีคำพูดว่า

พวกเขาอาจต้องการอนุรักษ์ความลำบากไว้ให้ชาวมอแกน

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง