แห้ว “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท แจกไม่ทัน พ.ค.นี้

เศรษฐกิจ
17 ม.ค. 67
12:02
9,852
Logo Thai PBS
แห้ว “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท แจกไม่ทัน พ.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จุลพันธ์ "ยอมรับ แจกเงิน 10,000 บาท ไม่ทันไทมไลน์เดิม พ.ค.นี้ แต่เดินหน้าต่อแน่นอน ไม่ลดคน ไม่ลดวงเงิน

วันนี้ (17 ม.ค 2567) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึง กรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งจากที่ป.ป.ช. ยื่นข้อเสนอและมีหนังสือตอบกลับกฤษฎีกา จึงต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ทำให้ไทมไลน์เดิมในเดือนพ.ค.ไม่ทัน แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ และไม่ลดวงเงิน ไม่ลดจำนวนคน ยังคงแนวทางเดิม หลังจากนี้จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อรับฟังความเห็นต่อไป

นายจุลพันธ์กล่าวว่า หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เมื่อได้เห็นหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีการไฟเขียว ไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นความเห็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเลตมีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม เพื่อให้เข้าสู่กรอบของกฎหมายให้ได้ในทีสุด

ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งหนังสือรายงานข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และจะเชิญคณะกรรมการนโยบายเงินดิจิทัลฯ มาประชุมเพื่อนำความเห็นของ ป.ป.ช. กฤษฎีกามาพิจารณาในคราวเดียวกัน แล้วจึงจะได้เริ่มกระบวนการในการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ทำความเข้าใจหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่ยังไม่เห็นเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ ยังมองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน เราก็ต้องสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น นายจุลพันธ์ เคยระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบของคำถามที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  ส่งไปถามกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคำตอบกฤษฎีกาเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และทางคณะกรรมการนโยบาย ที่จะดำเนินการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโครงการจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้เดือนพ.ค.2567

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ระบุที่มาของเม็ดเงินที่จะนำมาแจกให้กับประชาชน มาจาก 4 ส่วน คืองบประมาณแผ่นดิน 2.6 แสนล้านบาท ภาษีจากผลการขยายตัวเศรษฐกิจจากนโยบายรัฐบาล กำหนดเป้าปีละ 5 % วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีก 2 ส่วนจากบริหารจัดการงบประมาณ และงบด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน รวม 2 แสนล้านบาท

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

คิกออฟ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท " กฤษฎีกาไฟเขียวให้กู้ 5 แสนล้าน

ธปท.ออกเกณฑ์คุมแบงก์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ 

"บัตรเครดิต ดิจิทัล" ไร้ข้อมูล-สกัดโจรกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง