เมืองพริบพรี สู่ "เขาพนมขวด" แลนด์มาร์คฮีลใจ รพ.พระจอมเกล้า

สังคม
17 ม.ค. 67
12:49
1,095
Logo Thai PBS
เมืองพริบพรี สู่ "เขาพนมขวด" แลนด์มาร์คฮีลใจ รพ.พระจอมเกล้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ใครจะรู้...ว่าภายในเมืองพริบพรี ในอดีตนอกจากจะมี "เขาพนมขวด" บนยอดฐานประดิษฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ จากเมืองหริภุญไชย เมืองน่าน และพม่า ตั้งแต่ครั้งกาลก่อนแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเกือบ 200 ปี พระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งเดิม เพียงแต่ชื่อเมืองเปลี่ยน กลายเป็น จ.เพชรบุรี ในปัจจุบัน

หากไม่ใช่คนในพื้นที่ หรือจังหวัดใกล้เคียง อาจแทบไม่รู้จัก "เขาพนมขวด" ด้วยเหตุ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง ของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพชรบุรี จึงให้ทัศนียภาพเสมือนถูกบังไว้

ทั้งๆ ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่ไม่ใช่ศาลเจ้า สำหรับขอพรขอหวยแต่ คือ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ข้อมูลปรากฏว่า บนเนื้อที่ 53 ไร่ ของ รพ.พระจอมเกล้า เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงนาหลวงในพิธีแรกนาขวัญ ในหัวเมืองสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแรกนา ใกล้กันมีภูเขาขนาดเล็ก สูงประมาณ 20 เมตร

ชื่อ เขาพนมขวด บนยอดประดิษฐานเจดีย์องค์หนึ่ง ที่เดิมเจ้าอาวาสวัดสระบัวสร้างไว้ และถูกฟ้าผ่าชำรุด ทรงทอดพระเนตรและโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบศิลปะอยุธยา พร้อมกับเสริมองค์พระเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม และ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ จากเมืองหริภุญไชย (จ.ลำพูน), เมืองน่าน และจากประเทศพม่า

หากขึ้นไปด้านบน มองวิวจากยอดเขาพนมขวดแบบ 360 องศา นอกจากเห็นตัว รพ.พระจอมเกล้า ที่มีผู้คนมาใช้บริการแล้ว ยังมองเห็นถึงพระนครคีรี หรือเขาวัง ที่อยู่ไกลสุดเมื่อทอดสายตายาวออกไป ระหว่างเส้นทางขึ้นเขาพนมขวด จะพบพืชพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่เป็นของเดิมในอดีต ต้นลีลาวดี ที่แตกกิ่งสวยงาม สมสมัยแม้กาลเวลาที่ล่วงเลยมานาน แต่ลำต้นแข็งแรงและอ่อนช้อยสวยงาม 

นางพรระวี วังเวงจิตต์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งนำชมและสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนเขาพนมขวด เล่าให้ฟังว่า

พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุภายในพระเจดีย์ มีกล่องไม้รองรับอีกชั้น มีอับจันทน์แดง ,อับจันทน์ขาว ,กล่องศิลา โดยมีการบรรจุใบลานพระโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อไว้ “ให้เป็นเครื่องสักการะของงามบ้านงามเมือง” ของเทพ เทวดา และมนุษย์ เพื่อให้เล่าขานว่า “ที่มี ไม่ได้มี ของมีค่า ขออย่าได้ทำลาย แต่มีพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ให้สักการะสืบต่อไป”

นอกจากนี้รอบๆ บริเวณเขาพนมขวด ยังมีการตัดทำถนนล้อมรอบ โดยรัชกาล 4 ได้พระราชทานชื่อว่า "คีรีรัถยา" หมายถึง ทางเดินผ่านเขา เพื่อให้ผู้คนได้เดินทางสะดวก

สำหรับการเดินทางมากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทาง รพ.ไม่ได้มีการปิดกั้น ประชาชนสามารถใช้ทางผ่านเข้าจากโรงพยาบาล ก็เพื่อไปยังเขาพนมขวดได้อย่างสะดวก โดยจะมีป้ายบอกทางหรือหากสงสัยก็สอบถามเจ้าหน้าที่ได้

แม้ขณะนี้ เจดีย์เขาพนมขวด ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ทางรพ.พระจอมเกล้าอยู่ระหว่างประสานกับกรมศิลปากร เพื่อมาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ควบคู่กับจัดทำพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลให้เป็นสถานที่พักผ่อน ในเชิงท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการอนุรักษ์

นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผอ.รพ.พระจอมเกล้า เปิดเผยแนวคิดว่า พื้นที่ของรพ.ติดและเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ ซึ่งในอนาคตหากมีการจัดบริการท่องเที่ยวร่วมกับรถไฟคิฮะ

เชื่อว่าจะได้รับความนิยม และกลายเป็น “Soft Power”ของพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพราะนอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ตึกเก่าของอาคาร ก็จะมีการอนุรักษ์ไว้ทั้งหมด โดยชื่ออาคารใน รพ.พระจอมเกล้า ล้วนเป็นชื่อ พระราชโอรสในล้นเกล้า ร.4 ทั้งสิ้น อาทิ ตึก วชิรญาณวโรรส, นราธิปประพันธ์พงศ์ ,มเหศวรวิลาส ,ตึกพิฆเนศวรสุรสังกาศ ซึ่งเป็นพระนามของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ขณะทรงกรมหมื่นฯ และอักษรชื่อตึก ก็ถอดแบบมาจากลายพระหัตถ์ด้วย

มาโรงพยาบาลทั้งที นอกจากสุขภาพจะต้องดีขึ้นแล้ว ใจก็ยังสบายเพราะได้ขึ้นไปกราบสักการะบรมสารีริกธาตุ และยังได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ ในสมัย รัชกาลที่ 4 กลับไปด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าสงกรานต์ 2567 เริ่ม 12 ม.ค. เช็กเดินทางวันไหน ต้องจองเมื่อไร?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง