"บำนาญชราภาพ" มนุษย์เงินเดือน ประกันสังคมส่งต่อหรือพอแค่นี้

สังคม
18 ม.ค. 67
17:30
141,602
Logo Thai PBS
"บำนาญชราภาพ" มนุษย์เงินเดือน ประกันสังคมส่งต่อหรือพอแค่นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป และต้องส่งเงินสมทบ ประกันสังคม ตามมาตรา 33 ทุก ๆ เดือน ในอัตรา 5% หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาท โดยนายจ้างจะสมทบเพิ่ม 5% รัฐบาลสมทบอีก 2.75%

ตามปกติบริษัท ในฐานะนายจ้าง จะหักเงินจำนวนนี้ และมีการบันทึกไว้ในสลิปเงินเดือนโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่บริษัทยังคงจ้างงานปกติ ไม่ว่าจะครบอายุ 55 ปี หรืออยู่ครบเกษียณอายุ 60 ปี

อ่านข่าว : เช็ก 3 ช่องทาง เปลี่ยนโรงพยาบาล "ประกันสังคม 2567"

ผู้ประกันตนตามมาตรานี้ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากประกันสังคม เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

อ่านข่าว : ไทยพบ "ลิเทียม-โซเดียม" แร่ผลิตแบตเตอรี่รถ EV สูงอันดับ 3 โลก

ในกรณีชีวิตในวัยทำงานต้องสะดุดลง จากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด เช่น ถูกเลิกจ้าง บริษัทปิดกิจการ ในขณะที่การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของผู้มีอายุงานเกิน 20 ปีขึ้นไป แต่ผู้ถูกเลิกจ้างงานยังอายุยังไม่เข้าเกณฑ์อายุ 55 หรือ 60 ปีที่จะรับเงินบำเหน็จชราภาพ

มีคำถามว่า ต้องทำอย่างไร หากคุณยังไม่ได้งานใหม่ แม้จะต้องหยุดส่งเพราะการจ้างงานสิ้นสุดแล้วก็ตาม แต่สามารถกลับมาส่งใหม่ได้หลังจากกลับมาทำงาน ประกันสังคมก็ยังนับต่อให้ หรือกรณีที่เสียชีวิต ก็ไม่ยุ่งยาก เพราะจะถือว่าประกันมาตรา 33 จะสิ้นสุดลงด้วย

แต่ยังได้รับสิทธิตามกฎหมาย คือ หากส่งเงินสมทบครบ 1 เดือน หรือภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย จะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์ กล่าวคือ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50 % ของค่าจ้าง 4 เดือน

อ่านข่าว : หมอยงชี้วัคซีนโควิด-19 ลดเสียชีวิต ติดเชื้อน้อย เร่งฉีดกลุ่มเปราะบาง

ส่วนผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50 % ของค่าจ้าง 12 เดือน และจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ทายาทตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

และหากคุณยังมีชีวิตอยู่ อายุครบ 55 และอายุครบ 60 ปีแล้ว ตามกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 ระบุว่า อยู่ในเกณฑ์สามารถรับเงินบำนาญชราภาพตลอดชีวิตผู้ประกันตนได้ตามกฎหมาย สามารถนำบัตรประชาชน ไปยื่นแจ้งสิทธิที่สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานเขตประกันสังคมในพื้นที่ภูมิลำเนา เพื่อขอให้มีการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ โดยจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และจะบวกเพิ่มอีก 1.5% ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน

เบี้ยชราภาพประกันสังคมมาตรา 33

สำหรับการคำนวณเงินบำนาญชราภาพจะแบ่งออกเป็น 2 สูตร คือ

1.กรณีจ่ายครบ 180 เดือน ให้นำอัตราบำนาญเงินชราภาพที่จะได้รับ 20% คูณด้วยอัตราเงินเดือนสูงสุดไม่กิน 15,000 บาท หรือ (20 x 15,000) / 100 = จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท

2.กรณีเกิน 180 เดือน ให้นำอัตราบำนาญเงินชราภาพที่จะได้รับ 20% + เงินสมทบเพิ่มอีก 1.5% คูณจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบคูณด้วยอัตราเงินเดือนสูงสุดไม่กิน 15,000 บาท หรือ [20+(1.5xจำนวนปี )] x 15,000 / 100

โดยเบื้องต้นเงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับการส่งเงินสมทบ เช่น

  • ส่งเงินสมทบ 15-20 ปี เงินบำนาญที่จะได้รับ 3,000-4,125 บาท
  • ส่งเงินสมทบ 21-25 ปี เงินบำนาญที่จะได้รับ 4,350-5,250 บาท
  • ส่งเงินสมทบ 26-30 ปี เงินบำนาญที่จะได้รับ 5,475-6,375 บาท
  • ส่งเงินสมทบ 31-35 ปี เงินบำนาญที่จะได้รับ 6,600-7,500 บาท
    เงื่อนไขการรับบำนาญ ต้องจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือ 15 ปี ขึ้นไป และอายุครบ 55 ปี ถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

สูตรคำนวณเงินชรามาตรา 39

มีคำถามว่า หากอายุยังไม่ครบ 55 ปี ยังต้องทำงาน และต้องการใช้สิทธิสวัสดิการสังคม ก็มีอีก 2 ทางเลือก คือ ในกรณีที่มีการใช้สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 หรือ มาตรา 40 ก็ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ต่อเนื่อง

แต่ต้องทราบว่า เมื่อลาออกจากงานประจำแล้ว มาใช้สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ต่อเนื่อง เพื่อแลกกับสวัสดิการเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล จะมีผลทำให้ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนลดลง ทว่าก็ยังได้สิทธิเงินบำนาญกองทุนชราภาพ โดยใช้หลักการคำนวณเดียวกันกับมาตรา 33 เพียงแต่ว่ารายได้เฉลี่ยสูงสุดที่จะนำมาคิดอยู่ที่ 4,800 บาท

โดยเกณฑ์การคำนวณ เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หรือมากกว่านี้ และต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 180 เดือน กรณีย้ายงานมีช่วงเวลาที่ไม่ได้จ่ายเงินประกันสังคม แต่รวมกันต้องถึง 180 เดือน ไม่เช่นนั้นความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลง

มีสูตรคำนวณดังนี้ คือ ฐานเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย x 20% (แต่ฐานเงินเดือนของมาตรา 39 คือ 4,800 บาท)

จ่าย 180 เดือนขึ้นไป ได้รับโบนัสเพิ่มอีกปีละ 1.5%

อ่านข่าว : อัปเดตสิทธิประกันสังคม 2567 ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้สิทธิอะไรบ้าง

วิธีการคำนวณ

จ่ายมาตรา 33 ครบ 180 เดือน แต่ลาออก แล้วมาต่อมาตรา 39 อีก 60 เดือน

4,800 x 20% = 960 บาท 

(60 เดือน / 12) x 1.5% x 4,800 บาท = 360 บาท

รวม 960 + 360 = 1,320 บาท

วิธีการคำนวณ

ในกรณีที่จ่ายมาตรา 39 ไม่ถึง 60 เดือน นำฐานเงินเดือนมาเฉลี่ยกับ มาตรา 33

[(15,000 x 40) + (4,800 x 20)] / 12

ฐานเงินเดือนเฉลี่ยคือ 11,600 บาท

รวม 11,600 x 20% = 2,320

3 ทางเลือกประกันสังคมมาตรา 40

ในขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานอาชีพอิสระ ตามกฎหมายประกันสังคมระบุว่า ต้องมีอายุ 15-65 ปีบริบูรณ์ หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 เรื่องกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประจำปี 2565

ลงนามโดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เป็นการสมควรกำหนดอัตรา “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพ ประจำปี พ.ศ.2565 ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละ 2.18 ต่อปีของเงินสมทบ และ ผลประโยชน์ตอบแทนสะสมรวมกัน

แม้ผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าวจะมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินประกันสังคม คือ

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน โดยผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 100 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ประกอบด้วย

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาท/เดือน
  • เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน)

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ประกอบด้วย

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาท/เดือน
  • เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน)
  • เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน ผู้ประกันคนจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณี ประกอบด้วย

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย ถ้านอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 300 บาท ถ้าแพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จะได้รับวันละ 200 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาท/เดือน (ตลอดชีวิต)
  • เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ (ไม่เกิน 2 คน)
  • เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น

เปิดตัวเลขบำนาญชราภาพมาตรา 40

โดยมีเงื่อนไขระบุว่า ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 40 คือ ทางเลือกที่ 2 และ 3 เท่านั้น

  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 50 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 150 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน และจะได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มอีก 10,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป

สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จะได้เงินชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี ส่วนมาตรา 40 จะได้เมื่ออายุครบ 60 ปี และผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตราดังกล่าวต้องแจ้งสิ้นสุดการส่งเงินสมทบประกันสังคม และยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินบำนาญชราภาพ

ทั้งนี้ประกันสังคมจะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพียงครั้งเดียว โดยผู้ประกันตนไม่สามารถเลือกได้ว่า จะรับเงินบำเหน็จชราภาพ หรือ เงินบำนาญชราภาพ เนื่องจาก กองทุนประกันสังคมจะใช้เกณฑ์ การพิจารณาจากระยะเวลา การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นหลัก

อ่านข่าวอื่น ๆ

กรมบัญชีกลางจ่าย "เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ" งวดแรก มี.ค.นี้

บัตรใบเดียวรักษาทุกที "โครงการนำร่อง" ไม่ตอบโจทย์งบประมาณ

ผู้ประกันตน "ม.33 - ม.39" ตรวจพบ "โรคมะเร็ง 20 ชนิด ใช้สิทธิรักษาฟรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง