ตรวจสอบโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" พบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงสเปก

อาชญากรรม
21 ม.ค. 67
09:07
1,156
Logo Thai PBS
ตรวจสอบโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" พบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงสเปก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม่พันธุ์วัวน้ำหนักเเค่ 140 กิโลกรัม เป็นหนึ่งในวัว 50 ตัวของกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคเกษตรกรตำบลกระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าสัญญาในการส่งมอบที่ต้องอยู่ที่ 160 กิโลกรัม ในราคาตัวละ 17,000 บาท ตามโครงการโคบาลชายแดนใต้ งบประมาณกว่า 1,566 ล้านบาท โดยวัวบางตัวผอมแห้ง บางตัวขนาดเล็กน้ำหนักเพียง 95 กิโลกรัม แม้ทางเกษตรกรจะขุนเลี้ยงมานานกว่า 1 เดือนหลังการรับมอบ

โครงการโคบาลชายแดนใต้อยู่ในความดูแลของ 4 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนภาคใต้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย 1,000 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมเกษตกรกว่า 10,000 คน แต่ละกลุ่มจะเลี้ยง 50 ตัว รวมจำนวนวัวกว่า 50,000 ตัว

นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตร จ.ปัตตานี กล่าวว่า ภายหลังรับแม่พันธุ์วัวจากเงินกู้ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พบว่าวัวส่วนหนึ่งมีลักษณะไม่ตรงตามที่กำหนด โดยอยู่ในสภาพผอมจนเห็นซี่โครง น้ำหนักตัวละไม่เกิน 150 กิโลกรัม และยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวสัตว์ ทำให้เกษตรกรไม่รู้ประวัติการรับวัคซีนของวัวแต่ละตัว ยกตัวอย่างที่ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี ที่ได้รับวัวมา 50 ตัว แต่เป็นโรคปากเท้าเปื่อยถึง 7 ตัว

ได้รับวัว 50 ตัว เป็นโรค 7 ตัว เราไม่สบายใจเลย กลัวจะเอาเชื้อโรคไปลามตัวอื่น ๆ หรือวัวของคนในชุมชน จะทำให้มีปัญหาในพื้นที่

ไทยพีบีเอสลงพื้นที่สุ่มตรวจกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดปัตตานี จำนวน 5 กลุ่ม จากทั้งหมด 16 กลุ่มที่ได้รับมอบวัวเเล้วประมาณ 800 ตัว พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งน้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน

นายธีระชัย สุขเกษม ผอ.ป.ป.ช. จ.ปัตตานี กล่าวว่า “เราสุ่มตรวจไปหลายพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่น้ำหนักน้อยกว่าสัญญาทั้งหมด และภายใน 1-2 ปีนี้ จะมีแม่พันธุ์วัวส่งมาอีกนับหมื่นตัว เมื่อพบปัญหาตั้งแต่ต้น ถ้าเราไม่แก้ อาจเป็นการปล่อยให้เกษตรกรอีกหลายพันคนในโครงการต้องเผชิญปัญหาที่หนักขึ้นไปกว่านี้”

โครงการโคบาลชายแดนใต้ จะดำเนินการในช่วง 7 ปี นับตั้งแต่กรมปศุสัตว์ได้รับเงินยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยกลุ่มเกษตรกรจะยืมเงินเพื่อทำสัญญาซื้อแม่พันธุ์วัว อายุ 1-3 ปี จากบริษัทเดียว คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิชัยฟาร์ม ที่ตั้งใน จ.นครสวรรค์ โดยแบ่งการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะนำร่องจะจัดซื้อแม่พันธุ์วัว มีเกษตรกรเข้าร่วม 60 กลุ่ม ระยะที่ 2 ขยายเป็น 440 กลุ่ม และระยะที่ 3 ขยายเป็น 500 กลุ่ม โดยทุกกลุ่มจะต้องทำสัญญายืมเงินเพื่อจัดจ้างในการสร้างโรงเรือนเพื่อเลี้ยงแห่งละ 350,000 บาท ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดวิชัยฟาร์มก็เป็นผู้ได้รับการว่าจ้างเช่นกัน โดยคิดอัตรา 2 ส่วนงานประมาณร้อยละ 80 ของงบประมาณทั้งหมด 1,566 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจะต้องส่งคืนเงินกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ยในปี 2570-2573

แต่หลังการตรวจสอบของไทยพีบีเอส ในระยะนำร่อง เกี่ยวกับเอกสารประจำตัวสัตว์ที่ด่านกักกันสัตว์นครสวรรค์เกือบทั้งหมด ระบุน้ำหนักเท่ากันเพียง 2 ขนาด คือ 162 กิโลกรัม และ 165 กิโลกรัม ทั้งที่สภาพจริง คือน้ำหนักวัวแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่น้ำหนักน้อยกว่าสัญญา และแม้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานีจะเคยให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.ว่า ผู้ทำสัญญาเอกชนยินดีจะเปลี่ยนวัวให้ใหม่ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะระยะที่ 2 เชื่อว่าจะมีวัวนับหมื่นตัวเข้าในโครงการนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง