ชาวฮินดูร่วมยินดีนายกฯอินเดีย เปิด "วัดพระราม" อย่างยิ่งใหญ่

ต่างประเทศ
23 ม.ค. 67
08:36
1,246
Logo Thai PBS
ชาวฮินดูร่วมยินดีนายกฯอินเดีย เปิด "วัดพระราม" อย่างยิ่งใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567 ที่อินเดียมีความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตามองจากทั่วโลกในพิธีเปิด "วัดพระราม" ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่ชาวฮินดูในอินเดียเฝ้ารอมานานร่วม 30 ปี

ประเด็นที่ถูกจับตามองไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่ แต่เป็นแง่มุมบาดแผลในอดีตของชาวมุสลิมที่สืบเนื่องกับประวัติของวัดแห่งนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมอินเดีย ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม และการเปิดวัดพระรามของผู้นำอินเดียยังเต็มไปด้วยข้อครหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมือง

ชาวฮินดูร่วมยินดีพิธีเปิดวัดพระราม

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567 ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูในหลากหลายเมือง พากันออกมาจุดประทัดและดอกไม้ไฟ พร้อมร้องรำทำเพลง ท่ามกลางบรรยากาศรื่นเริง ควบคู่ไปกับการเฝ้าชมการถ่ายทอดสดพิธีเปิดวัดพระรามในเมืองอโยธยา ที่นเรนทรา โมดี นายกฯอินเดีย ร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ แม้ตัววัดจะยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม

พิธีเปิดวัดพระรามจัดขึ้นช่วงเที่ยงวานนี้ (22 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยมี "โมดี" เชิญถาดเครื่องบูชา ก่อนจะเข้าไปทำพิธีปราณประดิษฐานภายในวัด หลังจากผู้นำอินเดียยอมอาหารมาถึง 11 วัน เป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้

นายกฯอินเดีย ทำพิธีเปิดวัดพระรามอย่างยิ่งใหญ่

ประชาชนที่อยู่ด้านนอกวัดกว่า 7,500 คน รวมทั้งบรรดานักการเมือง นักธุรกิจ ดารานักแสดง ร่วมชมพิธีผ่านจอขนาดยักษ์ ท่ามกลางกลีบดอกไม้ที่โปรยปรายลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ในพิธีซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่

นายกฯอินเดีย และ พรรค PJB ใช้ "วัดพระราม" เป็นเสมือนแกนกลางของวิสัยทัศน์ทางการเมืองในการกู้คืนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของชาวฮินดูในอินเดีย รวมทั้งเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาเก่าแก่หลายทศวรรษของพรรคชาตินิยมฮินดูพรรคนี้

ขณะที่พิธีเปิดวัดพระราม เผชิญกระแสคัดค้านจากนักการเมืองฝ่ายค้าน เนื่องจากมองว่าโมดีและพรรค PJB ใช้วัดพระรามเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อกวาดคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในประเทศที่ประชากรร้อยละ 80 นับถือศาสนาฮินดู นอกจากนี้ ชาวฮินดูบางส่วน มองว่าการจัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในขณะที่เทวสถานยังสร้างไม่เสร็จ ถือเป็นการกระทำไม่ค่อยเหมาะสมตามความเชื่อของศาสนา 

ชาวฮินดูเชื่อว่า สถานที่สร้างวัดพระรามแห่งนี้ เป็นสถานที่ประสูติของพระราม เมื่อ 7,000 ปีก่อน แต่ที่เป็นประเด็นน่าจับตามองเกี่ยวกับความขัดแย้ง เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี สร้างขึ้นเมื่อปี 1528 ตามคำสั่งของ "จักรพรรดิบาบูร์" ซึ่งกษัตริย์พระองค์แรกของ "จักรวรรดิโมกุล" ที่ปกครองอินเดียตั้งแต่ปี 1526 จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะล่มสลายลงหลังอังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย

ชาวฮินดู เชื่อว่า มัสยิดนี้สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดที่ถูกทำลายและเป็นสถานที่ประสูติของพระราม ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ชาวมุสลิมและฮินดูเริ่มขัดแย้งกันในประเด็นสถานที่ตั้งของมัสยิดแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1856

อ่านข่าวเพิ่ม : "วัดพระราม" ชนวนความขัดแย้ง "อิสลาม-ฮินดู" ในอินเดีย

ก่อนที่ในปี 1992 ชาวฮินดูกว่า 2 แสนคนทุบทำลายมัสยิดบาบรีจนเกิดจลาจลทั่วอินเดีย มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 2 พันคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

ปี 2019 ศาลสูงสุดอินเดียตัดสินให้พื้นที่พิพาทตกเป็นของชาวฮินดู และให้มีการสร้างมัสยิดแห่งใหม่ห่างจากจุดเดิม 25 กิโลเมตร ขณะที่ในปีถัดมา จึงได้เริ่มมีการสร้างวัดพระรามขึ้นในที่สุด

วัดพระรามสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 7 พัน 700 ล้านบาท ด้วยเงินบริจาคจากภาคเอกชน ขณะนี้เปิดเฉพาะชั้นล่าง คาดว่าชั้นอื่นๆ จะแล้วเสร็จภายในปลายปี

ทางการคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จ จะมีผู้ศรัทธาเดินทางมายังวัดพระรามวันละมากกว่า 1 แสน 5 หมื่นคน ทำให้การก่อสร้างวัดนี้กระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองอโยธยา ทำให้เกิดโรงแรมขึ้นตามมาหลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งการเปิดสนามบินและสถานีรถไฟใหม่

นอกจากนี้ โครงการเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมเมือง ที่เป็นโครงการใหญ่มูลค่าคิดเป็นเงินไทยกว่า 1 แสน 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง