"การวางจุดยืนของไทยสำคัญที่สุด" เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เจ้ากระทรวงบัวแก้ว

เศรษฐกิจ
25 ม.ค. 67
12:53
430
Logo Thai PBS
"การวางจุดยืนของไทยสำคัญที่สุด" เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เจ้ากระทรวงบัวแก้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หากเอ่ยถึง "ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เชื่อว่า ไม่มีใครปฏิเสธฝีมือในการทำงาน ถือเป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่คร่ำหวอด ในทุกแวดวง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการต่างประเทศ ผ่านการทำงานกับอดีตนายกรัฐมนตรี มาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เข้าสู่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ และรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยเป็นอดีตผู้แทนการค้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ, หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC), เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard

เคยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะก้าวมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในยุครัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

และมีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้ากระทรวงบัวแก้วในการประสานนำแรงงานไทยกลับจากประเทศอิสราเอล ในช่วงภาวะสงคราม อิสราเอล-ฮามาส "ดร.ปานปรีย์" เปิดใจ หลังก้าวเข้ามารับหน้าที่บริหารกระทรวงการต่างประเทศใน 4 เดือนแรกของการทำงาน กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์"

ด่านแรกเจรจานำแรงงานไทยออกจากพื้นที่ขัดแย้ง

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า หลังเข้ารับตำแหน่งก็เจองานช้างวัดฝีมือการเจรจาระหว่างประเทศทันที จากสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐอิสราเอล เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2566 ในเหตุการณ์กลุ่มฮามาส โจมตีอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน (Rapid Response Center: RRC) เพื่อพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐอิสราเอล ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย พร้อมจัดเตรียมแผนช่วยเหลือและอพยพคนไทย

สงครามอิสราแอลกับฮามาส

สงครามอิสราแอลกับฮามาส

สงครามอิสราแอลกับฮามาส

ครั้งนั้นรัฐบาลไทย จัดเที่ยวบินอพยพ รวม 35 เที่ยวบิน อพยพคนไทยกลับจากอิสราเอลได้ที่ลงทะเบียนขอเดินทางกลับ จำนวน 10,000 ราย และมีการเปิดศูนย์พักพิงตามความต้องการของแรงงาน จำนวน 9 แห่ง

ปัจจุบันแม้จะปิดศูนย์พักพิงดังกล่าว แล้วตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.2566 แต่แรงงานยังคงสามารถเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือได้ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ปัจจุบันช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันช่วยออกมาได้แล้ว 23 คน ส่วนอีก 8 คนซึ่งอยู่กระจัดกระจาย ยังอยู่ระหว่างการช่วยเหลือและมั่นใจว่ายังมีชีวิตอยู่

เรายังประสานงานกับมิตรประเทศที่เกี่ยวข้อง ผ่านสถานเอกอัครราชทูตของไทยในประเทศต่าง ๆ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไป เยือนบางประเทศในตะวันออกกลางเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการหยุดยิง ซึ่งจะนำมาสู่การปล่อยตัวประกันต่อไป ผมมีแผนจะเดินทางไปเยือนบางประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการปล่อยตัวประกัน ดร.ปานปรีย์ กล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ บอกว่าการวางจุดยืนของประเทศไทยสำคัญที่สุด เพราะไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ และจุดยืนที่แตกต่างและเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้ขัดแย้งหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใด ๆ

การส่งแรงงานไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมได้ เพราะแรงงานมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้ แต่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานงานกับประธานาธิบดีของอิสราเอลว่า หากคนไทยต้องการกลับไปทำงานที่อิสราเอล ขอให้ทำงานอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่มีความปลอดภัยจากความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ใช่พื้นที่สีแดงที่เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งของคนในประเทศนั้น ๆ

FTA โจทย์ใหญ่กระตุ้นการค้า-การลงทุน

การค้าการลงทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาลง หลังมีการประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น ทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งเปิดเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะ FTA ฉบับต่าง ๆ ซึ่ง FTA ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ FTA ไทย-อียู ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเจรจาโดยเร็ว เนื่องจากเป็นผลดีกับการค้าการลงทุนและสินค้าไทย โดยรัฐบาลตั้งเป้าสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-อียู ภายใน 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2568

ดร.ปานปรีย์ บอกว่า FTA ไทย-อียู จะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัว 1.28% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.83% ต่อปี และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81% ต่อปี รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และการจ้างงานของไทย สร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ ผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู รวมทั้งยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูแลตั้งแต่หลังการเจรจา ระหว่างการเจรจาจะมีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้รอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด

การเจรจาการค้า

การเจรจาการค้า

การเจรจาการค้า

แต่การที่ไทยจะบรรลุความตกลงเอฟทีเอได้ ต้องให้ประเทศสมาชิกอียูรับรองไทยก่อน ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน สำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู มี 27 ประเทศ คือ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย ซึ่งหากบรรลุข้อตกลงจัดทำเอฟทีเอสำเร็จจะเป็นเอฟทีเอที่มีจำนวนสมาชิกคู่สัญญามากที่สุดของไทย

รมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 3-4 ก.พ.2567 นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเยือนศรีลังกาตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาเพื่อเป็นแขกเกียรติยศ (Guest of Honour) ในงานวันประกาศเอกราชศรีลังกา ซึ่งจะมีการร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา FTA ฉบับที่ 15 ของไทย และเป็นฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

FTA ไทย-ศรีลังกา จะเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศแล้ว ยังเป็นการขยายเครือข่าย FTA ของไทย ให้ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยสามารถใช้ศรีลังกาเป็นฐานการผลิตเพื่อเข้าถึงตลาดอินเดีย และศรีลังกาสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อเข้าถึงตลาดอาเซียนได้เช่นกัน

สำหรับสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร ยางพารา สำหรับสินค้าของศรีลังกาที่มีศักยภาพในไทย เช่น ชา อัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้า การแปรรูป และการถนอมอาหาร ผลิตภัณฑ์จากนม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ FTA ไทย-ศรีลังกา จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งขยายการลงทุนและขยายมูลค่าการส่งออกของไทยไปศรีลังกา

ดร.ปานปรีย์ ย้ำว่า การเยือน ศรีลังกาของนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญ ในการแสดงถึงการยอมรับและความมั่นใจใน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของศรีลังกา และยืนยันในความพร้อมของไทยที่จะเดินเคียงข้างกับศรีลังกาในการฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วง และสร้างความเจริญร่วมกันให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

นอกจากFTA ไทย-อียูที่ต้องเร่งทำเป็นอันดับต้น ๆ แล้ว รัฐบาลมีแผนจะเจรจา FTA กับประเทศอื่นอีก เช่น เกาหลีใต้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น หรือ FTA กับสหราชอาณาจักร (UK) อยู่ในไทม์ไลน์ที่รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาต่อไปในอนาคต

อ่านข่าวอื่นๆ:

ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจไทย "ต้มยำกุ้ง" - โควิด-19 - "ต้มกบ"

ททท.ประเมิน "ตรุษจีน" มาตรการวีซาฟรีหนุนจีนเที่ยวไทยพุ่ง

ไทย-ยูเออี ได้ประโยชน์ทุกเวทีเจรจา

สำหรับกรอบความร่วมมือ Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA) หรือ ไทย-ยูเออี นั้น ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยและยูเออี อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ระหว่างกัน ซึ่งยูเออีเป็นประเทศแรก ในกลุ่มอาหรับที่ไทยมีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีด้วย โดยสองฝ่ายประกาศเปิดการเจรจาฯ 4 ครั้งมีความคืบหน้าด้วยดี ครอบคลุมทั้ง การค้าสินค้าและบริการ การส่งเสริมการลงทุน และ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

โดยไทยและยูเออีให้ความสำคัญผลการเจรจา CEPA เป็นอย่างมาก เชื่อว่าถ้าไทยและยูเออีสามารถสรุปผลการเจรจาฯ ได้ จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อประชาคมโลกถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเออีที่ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ตลอดจนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศที่ดีให้ภาคเอกชนสองฝ่ายในการทำธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ยูเออีเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีกำลังซื้อสูง การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยในปี2565 ยูเออีเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของไทยใน ตลาดโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม และเป็นลำดับที่ 1 ใน ตะวันออกกลาง ด้วยมูลค่าการค้า 20,474.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 3.48 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ไทยเป็นฝ่ายได้ดุล ทางการค้าด้วยมูลค่า 2,450.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการจัดทำ CEPA คือ การส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรของ ยูเออี ทำให้ไทยมีช่องทางการค้ากับประเทศที่ยังไม่ได้จัดทำ CEPA กับยูเออี รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของ สินค้าไทยในตลาดยูเออี และกลุ่มประเทศประเทศอ่าวอาหรับ ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟ เบอร์บอร์ด เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยางและผลิตภัณฑ์

ไร้ข้อขัดแย้งทำงานร่วมกับ "ก.พาณิชย์"

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมางานด้านเจรจาจะมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก แต่บางครั้งก็มีการแบ่งงาน โดยมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะทำงานทั้งจากกระทรวงพาณิชย์และจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้สนับสนุนในฐานะด่านหน้าเพื่อดูความสัมพันธ์ทางการทูต เนื่องจากมีทูตอยู่ประจำทั่วโลก ทำให้ทราบสถานการณ์ต่าง ๆและมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก  และสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างประเทศ

ไม่มีปัญหาเพราะมีคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งผมเป็นประธาน มีฝ่ายเลขาทั้ง กต.และพาณิชย์ทำงานร่วมกันเจรจา เราทำงานเสริมกัน และไม่ใช่แค่กระทรวงพาณิชย์ ยังมีกระทรวงเกษตรฯ อุตสาหกรรม พลังงาน สาธารณสุข ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าเกี่ยวกับประเด็นอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตามทุกงานที่กระทรวงต่างประเทศดำเนินการ รวม.ต่างประเทศ กล่าวยืนยันว่า นโยบายทุกอย่างของรัฐบาลสำเร็จภายใต้ Quick Win ของรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 28 ม.ค.2567 รัฐมนตรีของจีนจะเยือนไทยและเข้าพบนายกฯ เพื่อหารือและลงนามเรื่องวีซาฟรีนักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย โดยวันที่ 29 ม.ค.2568 จะมีการหารือระดับทวิภาคี

สำหรับมาตรการฟรีวีซาให้นักท่องเที่ยวจีนแบบถาวรในวันที่ 1 มี.ค.นี้ กต.มีมาตรการในการคัดครองนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามา แต่ใช่ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะสร้างปัญหาฝ่ายเดียว ซึ่งก็มีทั้งสองฝ่ายการเข้ามาในราชอาณาจักรมีทั้งคนดีและไม่ดี ดังนั้นเป็นเรื่องที่ความมั่นคงจะต้องเข้ามาดูแลไม่ให้เขาสร้างปัญหากับไทย เช่นเดียวกับคนไทยหากไปสร้างปัญหาก็ถูกจัดการด้วย

นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว

แลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นระหว่างกันจะช่วยลดปัญหาของคนที่มีประวัติไม่ดีเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆฝ่ายกังวลไม่ใช่เฉพาะจีน ประเทศอื่น ๆ ที่เข้ามาไทยก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ไม่ชอบทำอะไรเป็นชิ้น ๆ และมอบนโยบายว่า ต้องพิจารณา วีซานักลงทุน ควรเป็นอย่างไร วีซานักศึกษา ที่มาเรียนแล้ว สามารถทำงานต่อได้หรือไม่ หรือคนที่มาเที่ยวระยะสั้น ๆ โดยไม่ต้องขอวีซาได้หรือไม่ เช่น ประเทศที่พัฒนาไทยสามารถไปขอวีซาฟรีประเทศไหนได้บ้าง หรือคนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่ทำงานบริษัทใหญ่ ๆ  หรือนักท่องเที่ยวที่ทำงานออนไลน์ สามารถเข้ามาทำงานที่ไทยโดยที่ไม่ต้องไปขอวีซาทุก ๆ 30 วันได้หรือไม่ โดยให้หน่วยงานที่ดูแลไปจัดทำเป็นแพ็กเกจมาเสนอ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้

 อ่านข่าวอื่นๆ:

เปิดข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ "ระนอง-ชุมพร" ก่อนมีแลนด์บริดจ์

อคส.ปิดตำนาน “จำนำข้าว” เทสต๊อกล็อตสุดท้าย 1.5 หมื่นตัน

สศค.คาด GDP ปี 67 ขยายตัว 2.8% ห่วงตลาดเงินโลกกระทบ ศก.ไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง