เช็กที่นี่ เบิกค่า "Sleep Test" ผู้ประกันตน "ป่วยหยุดหายใจขณะหลับ"

สังคม
26 ม.ค. 67
15:43
8,886
Logo Thai PBS
เช็กที่นี่ เบิกค่า "Sleep Test" ผู้ประกันตน "ป่วยหยุดหายใจขณะหลับ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานประกันสังคม ประกาศดูแลผู้ประกันตนป่วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" เบิกค่า Sleep test ได้ จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมเช็กสัญญานเบื้องต้นของอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว

สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงนามโดย พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์  เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567

กรณีแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในการรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) โดยประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

เปิดค่าใช้จ่าย ผู้ประกันตนป่วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" 

• ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 1 จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท

• ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนการตรวจชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ) จ่ายในอัตราเท่าที่จริงไม่เกิน 6,000 บาท

• ค่าอุปกรณ์เครื่อง CPAP และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานกำหนด ดังนี้

1.เครื่อง CPAP ราคาชุดละ 20,000 บาท

สำหรับเครื่อง CPAP  ลักษณะเป็นเครื่องเพิ่มความดันในทางเดินหายใจ เพื่อให้ความดันอากาศในทางเดินหายใจเป็นบวกตลอดเวลา สามารถปรับแรงดันได้ ใช้ร่วมกับหน้ากากครอบจมูกหรือปาก แต่ละชุดประกอบด้วยตัวเครื่องหน้ากาก ท่อต่อ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบถ้วนพร้อมใช่งานได้ในการเบิกจ่ายเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ประกอบด้วย 

• ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์แล้วไม่ได้ผลหรือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนหรือผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจาก Apnea-hypopnea Index (AHI) ที่ได้จากการวัดด้วยวิธี Full poly somnography ในการตรวจการนอนหลับดังนี้ (ข้อใดข้อหนึ่ง)

- AHI มากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง

- AHI ระหว่าง 5 - 15 ครั้งต่อชั่วโมง แต่มีโรคประจำตัวที่อาจเลวลงจากภาวะหยุดหายใจ ขณะนอนหลับ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง 

• ใบรายงานผลตรวจการนอนหลับที่มีการลงนาม โดย (ข้อใดข้อหนึ่ง)

- แพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติการนอนหลังจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ หรือกุมารแพทย์ หรือ โสต ศอ นาสิกแพทย์ หรือ จิตแพทย์แห่งประเทศไทย

- แพทย์ที่ผ่านการสอบประกาศนียบัตรความรู้ความชำนาญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย

- แพทย์ที่ผ่านการสอบประกาศนียบัตรความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกาศนียบัตรเวชศาสตร์การนอนหลับหรือเทียบเท่า หลักสูตรอย่างน้อย 1 ปี จากสถาบัยฝึกอบรม หรือ สมาคมหรือราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

• ใบรับรองแพทย์โดยแพทย์สาขาที่สามารถสั่งเบิกเครื่องอัดอากาศขณะหายใขเข้า มีดังนี้ 

- อายุรแพทย์การนอนหลับ/โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ / สาขาประสาทวิทยา

- อายุรแพทย์การนอนหลับ/โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต

- โรคระบบการหายใจ/ สาขาประสาทวิทยา 

โสต ศอ นาสิกการนอนหลับ/ โสต ศอ นาสิก

จิตแพทย์การนอนหลับ 

รายละเอียดเพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่   

2. หน้ากากครอบจมูก หรือปากที่ใช้กับเครื่อง CPAP ราคาชิ้นละ 4,000 บาท

ทั้งนี้ ค่าอุปกรณ์เสริม รายการแผ่นกรองอากาศ (Filter) กระดาษ และแผ่นกรองอากาศ (Filter) ฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน 

รายละเอียดเพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่

อุบัติการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร? "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" เริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ 

หากมีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่

และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่

หายใจติดขัดขณะหลับ รีบพบแพทย์  

- ตื่นนอนด้วยความไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย    

- นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก

- มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย

- มีอาการสะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ

- มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นี้เป็นเพียงอาการเบื้องต้น หากใครกังวลหรือต้องการคำแนะนำควรไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย และสบายใจ นอกจากนี้อย่าลืมดูแลตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ

อ่านข่าว 
เสียแขนขวา "หนุ่มสวิต" ถูกหมีควายกัดแขนยอมตัดเอาตัวรอด

เปิดเครือข่าย “รอง ต.” คนสนิทนักการเมือง บอสใหญ่เครือข่ายขนจีนเทาข้ามแดน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง