หญิงพลัสไซซ์ตั้งคำถาม "ผิดหรือ" ไม่สละที่นั่งให้เด็ก 1 ขวบ

ต่างประเทศ
28 ม.ค. 67
18:53
2,796
Logo Thai PBS
หญิงพลัสไซซ์ตั้งคำถาม "ผิดหรือ" ไม่สละที่นั่งให้เด็ก 1 ขวบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หญิงเจ้าเนื้อไม่ยอมสละที่นั่งให้เด็กเล็ก ทำชาวเน็ตเสียงแตกเป็น 2 ทาง บางคนตราหน้าว่าเธอเห็นแก่ตัว ในขณะที่อีกฟากฝั่งตำหนิแม่ของเด็ก "ไม่มีสิทธิ" ขอที่นั่งจากคนอื่น แม้จะเป็นที่นั่งว่างแต่ "มีเจ้าของ" แล้ว

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวกรณีหญิงเจ้าเนื้อรายหนึ่งแชร์ประสบการณ์การนั่งเครื่องบินจากแคนาดาไปรัฐฮาวาย สหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน 2566 โดยตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมในการโดยสารเครื่องบิน

Jae’lynn Chaney สาวเจ้าเนื้อชาวแคนาดาวัย 26 ปี เล่าเรื่องราวที่เธอถูกผู้โดยสารที่เป็นแม่เดินทางพร้อมเด็กเล็กวัย 18 เดือน เข้ามาขอที่นั่งให้ลูกของเขานั่ง แต่ที่นั่งที่ถูกขอนั้นเป็นที่นั่งที่ Chaney ซื้อเพิ่มด้วยตัวเอง ด้วยสาเหตุเธอเป็นสาวพลัสไซซ์ หรือ สาวเจ้าเนื้อ 

Jae’lynn Chaney สาวเจ้าเนื้อชาวแคนาดาวัย 26 ปี

Jae’lynn Chaney สาวเจ้าเนื้อชาวแคนาดาวัย 26 ปี

Jae’lynn Chaney สาวเจ้าเนื้อชาวแคนาดาวัย 26 ปี

โดยที่ขณะเดินทาง แม่ของเด็กน้อยได้เข้ามาบอกกับเธอว่า "เธอต้อง" ให้ที่นั่งตรงกลางแก่ลูกของเขานั่ง Chaney จึงปฏิเสธไป พร้อมบอกเหตุผลว่าเธอยอมซื้อที่นั่ง 2 ที่ติดเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และสำหรับตัวเธอแล้วแค่ทำใจต้องซื้อที่นั่ง 2 ที่ติด ก็รู้สึกอายมากแล้ว 

จากนั้น แม่ของเด็กไม่พอใจจึงบอกต่อแอร์โฮสเตสบนเครื่อง และแอร์โฮสเตสเองก็ได้ขอให้ Chaney ช่วยแบ่งที่นั่งที่ว่างนั่นให้แก่เด็กน้อย โดยกล่าวว่า เด็กไม่ได้ใช้พื้นที่มาก แต่ Chaney ยังคงปฏิเสธพร้อมแสดงหลักฐานว่าทางสายการบินอนุญาตให้เธอซื้อที่นั่ง 2 ที่ติดแล้ว ย่อมหมายถึงเธอมีสิทธิในที่นั่งทั้ง 2 ที่ของเธอ

เรื่องราวจบลงด้วย เด็กต้องนั่งตักแม่ตลอดการเดินทาง แต่ Chaney ยังบอกว่า เธอได้ยินแต่เสียงบ่นจากแม่ของเด็กตลอดเวลา และเด็กน้อยวัย 18 เดือนก็ไม่ได้นั่งนิ่งๆ ตลอดเที่ยวบินสักเท่าไหร่ 

เรียกร้อง FAA ให้แก้กฎการบินสำหรับคนอ้วน

หลังจากเกิดเหตุ Chaney ยื่นคำร้องต่อ FAA (องค์การบริหารการบินแห่งชาติ) และ สายการบินต่างๆ ให้เพิ่มที่นั่งเสริมสำหรับผู้โดยสารที่เป็นโรคอ้วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเพิ่มขนาดห้องน้ำของสายการบิน เธอกล่าวว่าอุตสาหกรรมการบินจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อ "ปกป้อง" นักเดินทางที่มีขนาดตัวใหญ่ 

Chaney บอกกับ CNN ว่านโยบายของสายการบินที่กำหนดให้นักเดินทางพลัสไซซ์ต้องซื้อที่นั่งเสริมขณะบินนั้นเป็น "การเลือกปฏิบัติ"

ฉันต้องจ่ายเงิน 2 เท่าสำหรับประสบการณ์แบบเดียวกัน แต่คนที่มีรูปร่างเล็กเสียค่าโดยสารเพียงครั้งเดียวเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกับฉัน 

Chaney ผู้ใช้ชื่อเรียกแทนตัวเองว่า Plus Size Traveller ระบุเหตุผลเพิ่มอีกว่า ข้อเท็จจริงคือ มีคนหลายคนเห็นพ้องว่าที่นั่งบนเครื่องบินนั้น "เล็กเกินไป" แม้แต่กับคนที่มีน้ำหนักตามมาตรฐานก็ตาม ในฐานะที่ตนเองเป็นนักเดินทางพลัสไซซ์  เธอรู้ว่าการนั่งเครื่องบินลำเล็กๆ มันช่างอึดอัดและไม่ปลอดภัยเพียงใด เหล่าคนเจ้าเนื้อไม่ได้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษใดๆ เพียงแค่ต้องการพื้นที่เพียงพอสำหรับการเดินทางอย่างสะดวกสบาย โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสิ่งที่พวกเธอเป็น 

ชาวเน็ตเสียงแตก

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับการปฏิเสธไม่ให้เด็กน้อยนั่งในที่นั่งที่เธอซื้อนั้น สนับสนุนว่า ที่นั่งที่ผู้โดยสารยอมจ่ายเงินเองจะมีประโยชน์อะไรหากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินปล่อยให้เจ้าของที่นั่งถูกรังแกจากผู้อื่น, แม่ควรซื้อที่นั่งให้ลูกเอง ที่ไม่ยอมซื้อเพราะคงจะขอให้คนอื่นเสียสละที่นั่งให้, ฉันขอให้เธอได้ที่นั่งเพิ่มบนเครื่องบินแบบที่ไม่ต้องเสียเงิน คนอ้วนถือเป็นผู้ป่วย ควรได้รับการดูแลจากพนักงาน ไม่ควรต้องเสียสละให้อีก เป็นต้น

ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่า เด็กคนหนึ่งใช้พื้นที่ได้มากแค่ไหนกันเชียว, จริงอยู่ที่แม่ควรจะซื้อที่นั่งเพิ่มให้ลูก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเห็นแก่ตัวและทำให้พวกเขาทั้ง 2 คนอึดอัด, ทำไมคุณถึงคิดว่าโลกต้องสนใจคำเรียกร้องของคุณคนเดียวด้วย เป็นต้น

สิทธิมนุษยชนบนเครื่องบิน

Gabor Lukacs ผู้สนับสนุนสิทธิผู้โดยสารทางอากาศของแคนาดากล่าวว่า การเรียกเก็บเงินจากผู้โดยสารที่มีขนาดตัวใหญ่ด้วยราคาที่นั่ง 2 ที่นั่ง ถือเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน Lukacs มองว่า การเป็นคนตัวใหญ่ไม่ใช่ทางเลือก อย่างที่หลายคนเชื่อผิด และไม่เห็นด้วยกับเหตุผลใดๆ ที่จะเรียกเก็บเงินค่าโดยสาร 2 เท่าจากคนเหล่านี้

ถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเป็นคนอ้วน น่าเสียดายที่สังคมยังมีอคติเชิงลบต่อคนพลัสไซซ์

Lukacs กล่าวต่อไปว่าสายการบินไม่ได้ให้ส่วนลดแก่ผู้ที่มีรูปร่างเล็กหรือแม้แต่เด็ก ทั้งๆ ที่พวกเขาก็มีน้ำหนักเบากว่ามากก็ตาม 

รอบเอวสวนทางกับความกว้างเบาะ

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ความกว้างของเบาะนั่งโดยเฉลี่ยลดลงจาก 18.5 นิ้วเหลือ 17 นิ้ว ในขณะเดียวกัน จากการศึกษาของสหพันธ์โรคอ้วนโลก พบว่าประมาณร้อยละ 38 ของประชากรโลก มีน้ำหนักเกินหรือเป็น "โรคอ้วน" Lukacs บอกกับ CNN ว่าการลดขนาดที่นั่งบนเครื่องบิน เป็น "ปัญหา" กับนักเดินทางทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีรูปร่างใหญ่โตเท่านั้น

เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการนั่งอัดแน่นอยู่ในที่นั่งขนาดเล็กมาก จะส่งผลต่อสุขภาพในแง่ของความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

สายการบินใดบ้าง คนอ้วนไม่เสียเงินซื้อที่นั่งเพิ่ม

ข้อมูลจาก หน่วยงานขนส่งของแคนาดา ออกกฎ "1 Passenger 1 Fair" หรือ 1 ผู้โดยสาร 1 ราคา ตั้งแต่ปี 2552 แล้วว่า สายการบินของแคนาดาต้องไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มกับผู้โดยสารพิการ หรือ ทุพพลภาพ แต่กฎนี้บังคับใช้เฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น หากบินออกนอกประเทศก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกอยู่ดี 

ส่วนสายการบินในสหรัฐฯ มีมาตรการอนุญาตให้ผู้โดยสารที่ต้องการซื้อที่นั่งเพิ่ม "สามารถซื้อได้" แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็แตกต่างกันไปในแต่ละสายการบิน 

ส่วนประเทศออสเตรเลียห้ามมิให้สายการบินเรียกเก็บเงินจากผู้โดยสารในจำนวนที่แตกต่างกันตามขนาดร่างกายของพวกเขา ซึ่งกฎนี้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทย "การบินไทย" ออกกฎไม่ขายที่นั่งชั้นธุรกิจให้กับผู้โดยสารที่รอบเอวมากกว่า 56 นิ้ว รวมถึงผู้โดยสารที่มีทารกนั่งตัก โดยระบุว่า เข็มขัดนิรภัยรุ่นใหม่ที่มีถุงลมนิรภัย (Airbag) ในตัวบนที่นั่งชั้นธุรกิจของเครื่องบินแบบโบอิง 787-9 ซึ่งเข็มขัดนิรภัยดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) โดยที่ผู้โดยสารที่มีรอบเอวเกิน 56 นิ้ว จะไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยดังกล่าวได้ แต่อนุญาตให้สามารถซื้อที่นั่งในชั้นประหยัดได้ เพราะมีระบบเข็มขัดนิรภัยแบบธรรมดา ไม่มีเทคโนโลยีแอร์แบ็คเหมือนกับชั้นธุรกิจ

และยังมีบางสายการบินในไทย บังคับให้ผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถโหลดลงใต้เครื่อง และไม่สามารถเก็บบนที่เก็บของเหนือที่นั่งผู้โดยสารได้นั้น ต้องซื้อที่นั่งเพิ่มเพื่อวางเครื่องดนตรี 

รู้จัก Extension seat belt

สำหรับผู้โดยสารพลัสไซซ์ อาจไม่สามารถรัดเข็มขัดที่นั่งด้วยเข็มขัดรัดที่นั่งที่ติดมากับเก้าอี้บนเครื่องบินได้ ผู้โดยสารสามารถแจ้งต่อแอร์โฮสเตสขอใช้เข็มขัดรัดที่นั่งเพิ่มได้ "โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" แต่อย่างใด ซึ่ง Extension seat belt ถือเป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของเครื่องบิน และไม่ได้มีพอสำหรับผู้โดยสารทุกคน เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ให้ปลดเข็มขัดออกแล้ววางไว้ที่เดิม กรุณาอย่านำลงจากเครื่อง 

อ่านข่าวอื่น : 

เช็ก "พิษสุนัขบ้าในคน" รับเชื้อเสี่ยงตาย สงขลาประกาศเขตโรคระบาด

"สิงโต" ไม่ใช่สัตว์ป่าที่ทุกคนจะเลี้ยงได้

ไร้รอยต่อ! 1 มี.ค.67 ไทยซื้อตั๋วบินจีนได้ ไม่ต้องขอวีซา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง