ภาค ปชช.ตั้งเป้า 10,000 รายชื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การเมือง
29 ม.ค. 67
19:57
457
Logo Thai PBS
ภาค ปชช.ตั้งเป้า 10,000 รายชื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาคประชาชนเตรียมรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หวังเป็นก้าวแรกของทางออกปัญหาขัดแย้ง ขณะที่ "วิชา มหาคุณ" แนะให้ออกหลักเกณฑ์-ข้อบังคับ ป้องกันกฎหมายฉบับนี้ตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง

วันนี้ (29 ม.ค.2567) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เปิดเวทีสาธารณะ-จัดเสวนา "ข้อเสนอนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์" ครั้งที่ 3 มีตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงนักกฎหมายภาคประชาชน และอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ คาดหวังกับเวทีนี้ในการนำไปสู่การขับเคลื่อนออกฎหมายนิรโทษกรรม

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ สะท้อนมุมมองว่า สันติสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ปกครองประเทศไม่ปรารถนาให้ยุติความรุนแรง พร้อมเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์-ข้อบังคับ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง

ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) อ้างอิงถึงคดีมาตรา 112 มีประชาชนและเยาวชนต้องถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก แต่การแก้กฎหมายนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ภาคประชาชนก็พร้อมจะยื่นร่างกฎหมายนี้และพร้อมรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1-14 ก.พ. ด้วยเป้าหมาย 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายและหวังเป็นก้าวแรกของทางออกปัญหาขัดแย้ง

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ คณะหลอมรวมประชาชน ในฐานะผู้ที่เคยต้องโทษและถูกคุมขังในคดีทางการเมือง หยิบยกปัญหาความขัดแย้งในอดีต ว่า ปัจจุบันฝ่ายการเมืองได้จับมือกันแล้ว เหลือแต่ประชาชนที่ยังคงถูกดำเนินคดีทางการเมือง พร้อมหยิบยกโมเดลการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จนนำมาสู่การนิรโทษกรรม โดยการออกคำสั่ง 66/23 เพียงแค่ฉบับเดียว

ส่วนฝ่ายการเมือง โดย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล ยกหลักสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล โดยเน้นมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก่อนให้คณะกรรมการชี้ขาดว่าคดีไหนได้รับการนิรโทษกรรม แต่การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกวิจารณ์เอื้อประโยชน์กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ สส.ของพรรค เรียกร้องให้ทบทวน

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุขเมื่อปี 2565 มีความเชื่อว่าทุกพรรคต่างเห็นด้วยกับการนิรโทษ แต่ไม่มีใครออกหน้า พร้อมเสนอแนะว่าหากวิปรัฐบาล-ฝ่ายค้านตัดสินใจร่วมกันที่จะให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณา ให้เสนอเรื่องนี้เป็นญัตติด่วน

ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น พรรคก้าวไกล - ครูไทยเพื่อประชาชน - รวมไทยสร้างชาติ เสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยหลังรับฟังความเห็นของประชาชนก็พร้อมบรรจุวาระพิจารณาของสภาฯ

อ่านข่าวอื่นๆ

นายกฯ คุยทูตจีนหนุนส่ง "หมีแพนด้า" ให้สวนสัตว์เชียงใหม่

สว.ทิ้งทวนอภิปรายรัฐบาลเศรษฐา - "สมชาย-คำนูณ-ถวิล" นำทัพ

ศาลยกฟ้อง คดี "ไอซ์ รักชนก" หมิ่นประมาทฯ "อัญชะลี-กนก" ชี้ ติชมโดยสุจริต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง