ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบ หลังพบพิรุธซื้อวัว “โครงการโคบาลชายแดนใต้”

ภูมิภาค
29 ม.ค. 67
22:10
311
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบ หลังพบพิรุธซื้อวัว “โครงการโคบาลชายแดนใต้”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้โครงการโคบาลชายแดนใต้ จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว แต่ไทยพีบีเอส ได้ข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มว่า มีการจัดเตรียมโครงการนี้ มาตั้งแต่ปลายปี 2565

ซึ่งขณะนั้น เกษตรกรก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน คือ ได้รับแม่พันธุ์วัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ชาวบ้านต้องเลี้ยงดูนานเกือบ 1 ปี โดยต้องควักเงินเอง ขณะที่ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งปรับเงื่อนไข ดึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เสนอคุณสมบัติการจำหน่ายวัว และให้สิทธิเกษตรกรเป็นผู้ถือเงิน เลือกซื้อพันธุ์วัวได้ตามราคากลางตลาด

มูลวัว และซากโรงเรือน ที่ยังคงหลงเหลือเพียงรางอาหารที่ผุผัง เป็นสิ่งเดียวที่เหลือไว้ดูต่างหน้า สำหรับสมาชิกกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อเพื่อพัฒนาคุณภาพ บ้านปูโป๊ะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

หลังชาวบ้านได้รับโรงเรือนแห่งนี้ จากห้างหุ่นส่วนวิชัยฟาร์ม จำกัด เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 หลังจากนั้นอีก 1 เดือน วัว 50 ตัวก็ถูกนำมาส่ง ซึ่งแม้วัวจะมีความสูงไม่ต่ำกว่า 105 เซนติเมตรตามเกณฑ์ แต่สภาพวัวก็สูบผอมและไม่แข็งแรง ชาวบ้านจึงไม่กล้ารับไว้ เพราะทราบว่า หากร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ต้องกู้เงินมาและจ่ายคืนหนี้

อ่านข่าว : ชาวบ้านกังวล "โคบาลชายแดนใต้" วัวขายไม่ได้ ไม่มีเงินใช้หนี้

ชาวบ้าน เล่าว่า วัวทยอยตาย นับตั้งแต่วันแรกที่ถูกนำมาส่ง โดยตายบนรถ 2 ตัว และอีก 1 วันก็ตายเพิ่มอีก 1 ตัว ซึ่งระหว่างเลี้ยงตลอด 7-8 เดือน วัวตายถึง 12 ตัว โดยเฉพาะหลังออกลูก

“วัวไม่แข็งแรง ขุนเท่าไรก็ไม่โต มันตายเยอะ โดยเฉพาะหลังมันออกลูก” นายอุสมาน อาแว เลขากลุ่มเลี้ยงโคเนื้อเพื่อพัฒนาคุณภาพ บ้านปูโป๊ะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าว

ชาวบ้าน เล่าต่ออีกว่า ถึงแม้ว่าวัวจะทยอยตาย แต่ก็ต้องดูแลวัวต่อไป พวกเขาก็พยายามขุนวัวที่เหลือให้โตขึ้น ด้วยการตัดหญ้าในแปลงปลูกของตัวเอง มาให้วัวกิน จนเต็มความจุของรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง 6 คัน แบบวันเว้นวัน และเก็บเงินจากสมาชิกกันเอง เพื่อมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูส่วนอื่น ๆ เพราะไม่สามารถเบิกจ่ายจากรัฐได้

แต่ผ่านไปหลายเดือนวัวก็ยังไม่โต ชาวบ้านจึงได้ติดต่อบริษัท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มารับวัวกลับไป ซึ่งกว่าวัวที่เหลือจะถูกรับกลับ ก็กินเวลาที่ต้องเลี้ยงไปเกือบ 1 ปี ส่วนโรงเรือนทางบริษัทก็มารื้อถอนออกไป

วันที่เขามารื้อ ก็ไม่ได้แจ้ง เขาก็มารื้อออกไปทั้งหมด เราเองก็ไม่อยากให้ใครมาเจอแบบนี้ ถ้าจะทำโครงการอีก จึงเสนอว่าให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเลือกซื้อแม่พันธุ์วัวเอง จากหลายๆ บริษัท

นายสะตอปา เจ๊ะดือราแม ประธานกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อเพื่อพัฒนาคุณภาพ บ้านปูโป๊ะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เสนอแนะ

ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น กับกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงโคขุนคีรีฟาร์ม และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนวังสายทอง อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งมีการนำวัวมาส่งให้ช่วงต้นปี 2566 ก่อนโครงการโคบาลชายแดนใต้ มูลค่ากว่า 1,566 ล้านบาท จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

อ่านข่าว : ตรวจสอบโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" พบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงสเปก

และทุกวันนี้มีวัวที่เลี้ยงทยอยตาย และยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อรับกลับ ชาวบ้านจึงต้องควักเงินเองในการเลี้ยงดูมานานกว่า 1 ปี จะขายก็ไม่ได้ จะเข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ก็ไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงเรือน ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จึงผิดเงื่อนไขของโครงการ

การนำวัวมาให้ชาวบ้าน ผูกมัดด้วยการทำสัญญากับบริษัทเอกชน ตั้งแต่ก่อนโครงการจะได้รับอนุมัติ ซึ่งหลายกลุ่มล้มเหลวในการเลี้ยง เพราะแม่พันธุ์วัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงเป็นหนึ่งในข้อสังเกตของ ป.ป.ช.ภาค 9 ที่กำลังตรวจสอบว่า จะเข้าข่ายการล็อคสเปกหรือไม่

ขณะที่นายไชยา พรหมมา รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการดำเนินงานโครงการโคบาลแดนใต้ กับส่วนราชการ พร้อมพบปะกับเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เลี้ยงโค หมู่ 2 ต.ตันหยงสุโละ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และ กลุ่มบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ 1 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

โดยเห็นด้วยว่า การดำเนินการหลังจากนี้ จะต้องเปิดกว้าง แม้จะใช้วิธีการคัดเลือก แต่วิธีการตามเงินนอกงบประมาณ ก็จะต้องเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้สิทธิเกษตรกร ได้เลือกผู้ประกอบการขายวัว รวมถึงเอกสารต่าง ๆ จะต้องมีความพร้อม

วัวจะต้องถูกคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ทั้งการตรวจโรค น้ำหนัก และรูปพรรณสัณฐาน เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า วัวเหล่านี้ ผ่านการตรวจโรคปลอดภัย ซึ่งกรมปศุสัตว์ จะเข้ามามีส่วนร่วม

พร้อมคาดหวังว่า โครงการนี้ จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ จะมีความมั่นใจว่า วัวมีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระว่า วัวจะสามารถให้ลูกกับเกษตรกรได้หรือไม่

โดยหลังจากรับฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกรและหน่วยงานในพื้นที่ จะรวบรวมเพื่อนำเข้าที่ประชุมร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางทางออนไลน์ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสรุปข้อร้องเรียนและจะสามารถปรับแก้เงื่อนไขของโครงการอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้โครงการระยะ 2 ไม่เกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง