จิตแพทย์เด็กห่วง "เด็กถูกรังแก" แนะครู-ผู้ปกครองไม่นิ่งเฉย

สังคม
30 ม.ค. 67
20:38
373
Logo Thai PBS
จิตแพทย์เด็กห่วง "เด็กถูกรังแก" แนะครู-ผู้ปกครองไม่นิ่งเฉย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นห่วงเด็กถูกรังแกในโลกออนไลน์สูงอันดับหนึ่ง สะท้อนครู-ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งเฉยหากเด็กถูกรังแก เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่าการรังแกกันเป็นเรื่องที่ทำได้ เสนอรัฐให้ความสำคัญระดับนโยบาย

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากผลสำรวจเด็กถูกรังแกในโรงเรียนช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เด็กถูกรังแกทางร่างกายและจิตใจ ร้อยละ 20-30 และรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียน หากพิจารณาช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะเมื่อเด็กกลับเข้าสู่การเรียนปกติ ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตของเด็กน้อยมาก

หากแบ่งประเภทเด็กและเยาวชนถูกกลั่นแกล้งรังแกจะแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.การใช้กำลังหรือการทำร้ายร่างกาย เช่น ตบ ตี ชก ต่อย การข่มขู่, 2.การใช้คำพูด ทำร้ายความรู้สึก เช่น วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน, 3.การรังแกทางสังคม เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม และ 4.การรังแกทางโลกออนไลน์ ผ่านการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เป็นการกลั่นแกล้งในวงกว้างที่รุนแรงมากกว่าในรั้วโรงเรียน

การรังแกทางโลกออนไลน์ เป็นการรังแกที่น่ากังวลที่สุด เพราะเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะที่โรงเรียน

ขณะที่การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำลงเรื่อยๆ ล่าสุดพบการกลั่นแกล้งตั้งแต่เด็กระดับชั้นอนุบาล สำหรับช่วงอายุที่มีการรังแกกันมากที่สุดจะอยู่ในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย หรือมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะช่วงวัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เด็กต้องการสังคมเพื่อน หากไม่ได้รับการยอมรับหรือรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง จะทำให้ส่งผลกระทบด้านจิตใจรุนแรง

การเฝ้าระวังต้องเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก หากรอเข้าประถมศึกษาตอนปลาย อาจจะสายเกินไป แต่มันเป็นเรื่องของการปกป้องตนเอง ทักษะการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ทักษะในแง่สังคม

เพิ่ม “ทักษะชีวิต” แก้ปัญหาเด็กถูกรังแก

พญ.โชษิตา ระบุว่า เด็กที่เผชิญกับเหตุการณ์ถูกกลั่นแกล้งต้องรู้จักอารมณ์ของตัวเองและจัดการอารมณ์ที่ไม่ดีของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องทำให้เพื่อนรับรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง เช่น ต้องบอกเพื่อนว่าไม่ชอบที่เพื่อนทำแบบนี้

นอกจากแนวทางแก้ปัญหาในเด็กแล้ว ผู้ปกครองต้องเรียนรู้เด็กว่ามีทักษะด้านสังคมหรือการแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ เพราะการแก้ปัญหาของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน การเพิ่มทักษะชีวิตให้กับเด็กเพื่อการเอาตัวรอด รู้จักวิธีการแก้ปัญหาและรู้ว่าตัวเองได้รับการยอมรับจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของตัวเองได้

เด็กแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน เด็กบางคนต้องการการใส่ใจเป็นพิเศษ เด็กบางคนไม่รู้ว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องช่วยตั้งแต่ต้น
พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ครู-ผู้ปกครองไม่นิ่งเฉย เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้ง

พญ.โชษิตา ระบุอีกว่า บางสถานการณ์ เด็กแก้ปัญหาเองไม่ได้ จึงต้องมีผู้ใหญ่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งการจัดการในโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องประกาศว่าไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนหรือในสังคม และต้องมีกระบวนการจัดการ เช่น ช่องทางการขอความช่วยเหลือเมื่อเด็กเกิดปัญหา หรือเมื่อเด็กบอกว่าถูกกลั่นแกล้ง ครูหรือผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญก่อน โดยวิธีการจัดการนั้นไม่ใช่การตำหนิหรือลงโทษ แต่เป็นการช่วยกันดูแลกัน เพื่อนช่วยเพื่อน มีระบบครูช่วยเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องทำงานไปพร้อมกัน

สิ่งที่เจอจากการวิจัยพบว่า ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเรื่องการรังแกกันมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก เป็นเรื่องเล็ก เราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเด็กก็หยุดไปเอง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าทำได้ การรังแกกันไม่ผิด เพราะครู-ผู้ปกครองไม่ได้ว่าอะไร

ทั้งนี้ จากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่ปัจจุบันพบบ่อยครั้ง จึงเสนอภาครัฐให้ความสำคัญทั้งระบบนโยบาย ระดับโรงเรียน ระดับสังคม ต้องทำความเข้าใจเรื่องการรังแกกัน เพราะการรังแกกันเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จิตแพทย์ห่วงสภาพจิต "เด็ก" เครียดยาว แนะหยุดบูลลีในโรงเรียน

“เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ามายุ่ง” วาทกรรมรุนแรงในครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง