เบื้องหลังไถ่ชีวิต "พังดัมมี่" ช้างขี้บ่นแสนรู้ 2.1 ล้านบาท

สิ่งแวดล้อม
5 ก.พ. 67
13:51
15,089
Logo Thai PBS
เบื้องหลังไถ่ชีวิต "พังดัมมี่" ช้างขี้บ่นแสนรู้ 2.1 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พระครูอ๊อด" เล่าเบื้องหลังไถ่ชีวิต "พังดัมมี่" ช้างอินดี้ขี้บ่น วงเงิน 2.1 ล้านบาท ขอบคุณ "กัญจนา" มอบ 1 ล้านบาท พร้อมตั้งชื่อใหม่ "แสนรู้" ออกเดินทางจากสงขลามาศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ลำปาง พรุ่งนี้ (6 ก.พ.)

"กัญจนา" ปะหน้า "พังดัมมี่" ช้างขี้บ่น แม่ๆ ส่งใจอาหารเต็มพุง

เราไม่ได้คิดว่าเป็นช้างของตัวเอง แต่เป็นช้างของทุกคนในประเทศ ทุกคนร่วมสนับสนุนปัจจัยจนครบ 2.1 ล้านบาท

พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน หรือพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดแคมเปญไถ่ชีวิต "ดัมมี่" เจ้าของฉายาช้างขี้บ่น และช้างอินดี้ สายธรรมชาติ อายุ 23 ปี ขณะนี้ยอดเงินครบจำนวนแล้ว หลังโซเชียลแชร์เรื่องราวของดัมมี่ช้างที่ชื่นชอบการนั่งดูทะเลที่เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต ก่อนถูกขายให้เจ้าของใหม่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยแฟนคลับและคนรักช้างเป็นห่วง และกังวลว่าช้างตัวนี้จะไม่มีความสุขเช่นเดิม พร้อมทั้งร่วมบริจาคเงินไถ่ชีวิตในครั้งนี้

"พังดัมมี่" ออกเดินทางจาก "หาดใหญ่" คาดถึง "ลำปาง" พรุ่งนี้

ขอบคุณหลายภาคส่วนที่ช่วยกัน ทั้งโยมหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา พอทราบเรื่องแล้วร่วมไถ่ชีวิตจำนวน 1 ล้านบาท
ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ช้างดัมมี่จะถูกเคลื่อนย้ายด้วยรถ 6 ล้อบรรทุกช้างโดยเฉพาะ ออกเดินทางจากปางช้างในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ สงขลา ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.2567) เวลา 06.00 น. คาดว่าจะเดินทางถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ในวันที่ 7 ก.พ. เวลา 13.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 ชั่วโมง เบื้องต้นได้จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 500,000 บาท เหลือเงินอีก 1,600,000 บาท ซึ่งจะโอนให้เจ้าของช้างทันทีที่เคลื่อนย้ายแล้วเสร็จ ส่วนเอกสารต่าง ๆ ทั้งตั๋วรูปพรรณช้าง และเอกสารเคลื่อนย้ายจากสงขลามาลำปางครบถ้วนแล้ว

สำหรับการเคลื่อนย้ายจะใช้ควาญช้าง 2-3 คน คนขับรถ 2 คน และจะจอดแวะพักเป็นระยะ ให้ช้างได้กิน พักผ่อน และไม่เครียด เบื้องต้นควาญช้างจะอยู่ดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จนกระทั่งช้างดัมมี่ปรับตัวได้

ไถ่ชีวิต “พังดัมมี่” ช้างขี้บ่นสายอินดี้ทะเล จะมาเป็นสาวเหนือ

พระครูอ๊อด เล่าว่า พังดัมมี่ เกิดที่ จ.สุรินทร์ เมื่ออายุได้ 2-3 ขวบ จึงแยกจากแม่ช้าง ก่อนจะมีผู้ซื้อไป และย้ายไปอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ จากนั้นจึงเดินทางไปทำงานเป็นช้างโชว์ในอีกหลายพื้นที่ จนไปอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เจ้าของช้างประสบปัญหาด้านการเงิน จึงจำเป็นต้องขายต่อ 

พระครูอ๊อด ได้ติดตามช้างดัมมี่ผ่านโซเชียลมาเป็นเวลา 1 ปี โดยเป็นช้างขี้บ่น ชอบสื่อสาร กระทั่งมีหลายคนส่งเรื่องราวของดัมมี่และขอให้ช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.พ. นำไปสู่การเปิดแคมเปญไถ่ชีวิตในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่สำคัญ "โหน่ง" หนึ่งในควาญช้างที่เคยเลี้ยง "แสนไกร" ช้างที่ได้รับการไถ่ชีวิตเป็นเชือกที่ 13 ในอดีตเคยเลี้ยงและฝึกดัมมี่ตั้งแต่เด็ก โดยควาญช้างคนดังกล่าวเสียชีวิตจากโรคมะเร็งช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การช่วยช้างดัมมี่จึงเป็นการอุทิศบุญกุศลให้กับควาญช้างคนนี้ด้วย

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

เมื่อตัดสินใจจะไถ่ชีวิตดัมมี่ พระครูอ๊อดได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเก่าของช้าง ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ และจำเป็นต้องขายช้าง เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและค่าอาหารที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องนำบ้านไปจำนอง สุดท้ายแบกรับภาระหนี้ไม่ไหว ก่อนตัดใจขายช้างดัมมี่ ส่วนเจ้าของใหม่ก็พูดคุยเป็นอย่างดี และยินดีขายช้างต่อให้เท่ากับราคาที่ซื้อมา

การติดต่อประสานงานใช้เวลาเพียง 4-5 วัน เจ้าของใหม่ก็ยินดีขายให้ในราคาทุนที่ซื้อมา ขอให้ทุกคนสบายใจว่าช้างอยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เป็นช้างของทุกคน

พระครูอ๊อด เชื่อมั่นว่า เมื่อเคลื่อนย้ายช้างมาดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยสำเร็จ จะช่วยให้เหล่าแฟนคลับคลายความกังวล เพราะช้างไม่ต้องไปใช้แรงงาน หรือเร่ร่อน อีกทั้งได้รับโภชนาการอย่างดี ได้กินหญ้าปลอดสารเคมี และมีสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้างคอยดูแลเป็นอย่างดี ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ป่ากึ่งสมบูรณ์ ให้ช้างได้พักผ่อนและเดินเล่นอย่างมีความสุข

ดัมมี่จะกลายช้างตระกูล "แสน" เชือกที่ 16 ที่ได้รับการไถ่ชีวิต โดยมีชื่อใหม่ว่า "แสนรู้" พระครูอ๊อด บอกว่า เป็นชื่อเดียวในใจและชื่อแรกที่นึกถึง เพราะดัมมี่เป็นช้างสง่า เรียนรู้ไว นิสัยดี จุดเด่นความขี้บ่น คือ ความฉลาด โดยเชื่อว่าช้างจะปรับตัวได้ดีแม้สภาพอากาศทางภาคใต้แตกต่างจากภาคเหนือ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นพ่อแม่อุปภัมถ์ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรักษาช้างให้เป็นสัตว์คู่ชาติไทย ก่อนจะไปดูแลสัตว์อื่น ๆ

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์

สำหรับพระครูอ๊อด เป็นพระสงฆ์ที่เคยให้ความช่วยเหลือควาญช้าง และช้างในปางช้างต่าง ๆ มากว่า 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ที่มีช้างตกงานและถูกประกาศขายหลายเชือก

ขณะที่ น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (อ.อ.ป.) เบื้องต้นจะรับฝากเลี้ยงช้างดัมมี่ก่อนและกักโรค 14 วัน โดยรอการพิจารณาของคณะกรรมการในการรับช้างมาดูแลอย่างถูกต้อง ซึ่งการเคลื่อนย้ายจากภาคใต้มาภาคเหนือ คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรมาก แต่อาจต้องปรับอาหาร สภาพอากาศ และเรียนรู้ระหว่างควาญช้างกับช้าง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องราวของ "แสนหวาน" ลูกช้างตาบอดจากสารเคมี 

ช่วย "ลูกช้างป่า" จมแอ่งโคลน ล่าสุดกลับเข้าโขลงปลอดภัย

ช่วย "ลูกช้างป่า" จมแอ่งโคลน ล่าสุดกลับเข้าโขลงปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง