"พูดคุยสันติสุข" ครั้งแรกพรุ่งนี้ หลัง "ฉัตรชัย" นั่งหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่

ต่างประเทศ
5 ก.พ. 67
19:14
359
Logo Thai PBS
"พูดคุยสันติสุข" ครั้งแรกพรุ่งนี้ หลัง "ฉัตรชัย" นั่งหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลัง "ฉัตรชัย บางชวด" นั่งหัวหน้าคณะพูดคุย จะมีการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งแรก นักวิชาการระบุถ้าไปได้ไกลถึง "ลงนามร่วมกัน" ก็นับว่ายกระดับไปในทางที่ดีแล้ว

วันนี้ (5 ก.พ.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.) การพูดคุยสันติสุขจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งที่ประเทศมาเลเซีย ภายหลังการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย คนใหม่ เป็นนายฉัตรชัย บางชวด ซึ่งถือเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ที่มาจากพลเรือนคนแรก นับตั้งแต่มีการพูดคุยสันติสุข เป็นต้นมา

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า แม้จะเป็นพลเรือน แต่นายฉัตรชัยคลุกคลีกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นเลขานุการคณะพูดคุยมาโดยตลอด จึงได้เปรียบ เพราะทราบกระบวนการดี และองค์ประกอบของคณะพูดคุย ก็จะมีตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพน้อย รวมด้วย

การพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ครั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนยังคงมีความคาดหวังอยู่มาก ประมาณร้อยละ 70 แต่ที่ผ่านมา ผลของการพูดคุย มันยังไม่เป็นรูปธรรม ทำให้ยังมีความไม่สมหวังอยู่พอสมควร ที่ไม่สามารถผลักดันให้มีความคืบหน้าได้

แต่ในการหารือครั้งนี้ ถ้าดูจากแผนผังการทำงาน ที่ได้วางไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว มี Road map มีขั้นตอน มีกระบวนการต่าง ๆ ที่จะต้องทำให้เสร็จ ภายใน 1 ปี หรือ 2 ปีนี้ ก็น่าจะมีการประกันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะรัฐบาลเองเป็นรัฐบาลจากพลเรือน ที่มาจากการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทย ก็เป็นผู้ริเริ่มในการพูดคุยครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เท่าที่ทราบหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ก็อยากให้มีการตกลงกันให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อจะได้มีข้อตกลงหาทางออกจากความขัดแย้ง ซึ่งการมีข้อตกลงอาจหมายถึงมีการลงนาม

ถ้าทำได้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการประกาศว่า สามารถที่จะลงนามได้ ซึ่งผมคิดว่าฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ก้าวข้ามไปแล้ว และยินดีที่จะลงนามในข้อตกลง ซึ่งจะยกระดับไปสู่การเจรจา

แต่เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการพูดคุยสันติสุข ก็คือ ทุกฝ่ายจะต้องมีเจตนาทางการเมืองที่เข้มแข็งในการพูดคุย ซึ่งจะต้องทำให้ได้ โดยมีแผน มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน มีความเชื่อมั่น

ส่วนการดำเนินคดีต่อนักจัดกิจกรรมในพื้นที่ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่อาจจะส่งผลต่อการพูดคุย เพราะหากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่เข้มเกินไปพูดเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้ ไม่มีการประนีประนอม นำกระบวนการทางกฎหมายมาปิดปาก ก็มีความเสี่ยงที่ฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะฝ่าย BRN ก็จะตั้งข้อกังขา ว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่

ดังนั้น ในพื้นที่จึงควรเปิดให้พูดคุยกันได้ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตย และการไม่ใช่ความรุนแรง ได้แนวทางสันติวิธี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง